ส.ภัตตาคารแนะ รบ.ต่อลมหายใจร้านอาหาร ปล่อยสินเชื่อ 30% คิดจากรายได้ที่เสียภาษีในปี 62

ส.ภัตตาคารแนะ รบ.ต่อลมหายใจร้านอาหาร ปล่อยสินเชื่อ 30% คิดจากรายได้ที่เสียภาษีในปี 62

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศคลายล็อกให้ร้านอาหารนั่งได้ถึงเวลา 23.00 น. แต่งดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มมีผลในวันที่ 21 มิถุนายน ว่าถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ ศบค.ตอบรับตามคำขอของภาคเอกชน แม้จะไม่ได้ตอบรับ คือ การขยายเวลาเปิดร้านจาก 21.00 น. ไปเป็น 23.00 น. และการอนุญาตให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้านได้จำนวน 50% ของพื้นที่

ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหารยังไม่อนุญาต เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในเขต 4 จังหวัดควบคุมเข้มและสูงสุด (สีแดงเข้ม) ยังสูงและสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ในมุมของสมาคมฯอาจมองเพียงมุมมองภาคเอกชน แต่ ศบค.อาจจะมีมุมมองกว้างและลึกกว่า มีข้อมูลมากกว่าเรา จึงเคารพการตัดสินใจนี้

นางฐนิวรรณกล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารต่อเนื่อง สัปดาห์หน้าสมาคมภัตตาคารไทยจะเดินเรื่องมาตรการด้านเศรษฐกิจ เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือโครงการจับคู่กู้เงินของกระทรวงพาณิชย์ แต่สมาคมฯได้ยินเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารว่าส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง หรือไม่ผ่านเกณฑ์ขอสินเชื่อได้ เพราะในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารเกือบทั้งหมด อยู่ในสถานะเป็นหนี้เสียแล้ว เพราะอยู่กับโควิด-19 มากกว่าปีครึ่ง ร้านอาหารไม่มีสายป่านที่ยาว ธุรกิจจึงเกิดปัญหา

“มาตรการสินเชื่อต่างๆ มีการปรับเกณฑ์ให้เข้าถึงง่ายขึ้น ฟังแล้วดูดี โดยเฉพาะโครงการจับคู่กู้เงินของกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดมีการจัดงานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พัทลุง ปทุมธานี และกาญจนบุรี ชวนร้านอาหารในพื้นที่เข้าโครงการ แต่สุดท้ายยื่นขอสินเชื่อไม่สำเร็จ เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านทางสมาคมภัตตาคารแต่ด้วยเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ยังอยู่ในขั้นตอนการส่งเอกสาร” นางฐนิวรรณกล่าว

Advertisement

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ยอดขายที่ลดลงอย่างมากทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนหมุนเวียน ทั้งการซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าเช่าพื้นที่ จ่ายค่าจ้างพนักงาน จึงจำเป็นต้องการเงินทุนมาช่วยเหลือในส่วนนี้ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายไม่ได้ต้องการเงินทุนจำนวนมาก อาทิ ในพื้นที่ภูมิภาคต้องการเพียงหลักแสนบาทเท่านั้นเพื่อประคองธุรกิจไปได้อีก 6 เดือน แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้

นางฐนิรรณกล่าวว่า วิธีการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 ที่ง่ายที่สุด คือ ถ้าร้านยังดำเนินธุรกิจได้อยู่ และร้านเคยมีรายได้เท่าไร อยากให้รัฐบาลช่วยทันทีในรูปของสินเชื่อ 30% ของรายได้ที่เคยได้ ในเมื่อทุกคนเคยแสดงรายได้กับทางสรรพากรและเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหาการขาดรายได้เกิดในปี 2563 ดังนั้น ก็ดึงข้อมูลในปี 2562 ออกมาดูว่าร้านนั้นเคยมีรายได้เท่าไร แล้วนำมาคำนวณเพื่อปล่อยสินเชื่อ 30% จากรายได้ในปี 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image