จับตารัฐโปรย 4 มาตรการกระตุก ศก.ปลายปี ฉวยจังหวะรื้อฐานข้อมูลประชากร…ผุด‘บิ๊กดาต้า’

จับตารัฐโปรย 4 มาตรการกระตุก ศก.ปลายปี ฉวยจังหวะรื้อฐานข้อมูลประชากร

สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา กำลังซื้อหดหาย จากคลื่นเชื้อร้ายไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กระแทกซ้ำถึง 3 รอบ ทำให้ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รัฐบาลตัดสินใจออกแพคเกจฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 4 มาตรการ มั่นหมายให้ครอบคลุมการเยียวยาและความช่วยเหลือแก่ประชาชนประมาณ 51 ล้านคน พร้อมคาดหวังเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี จำนวน 473,300 ล้านบาทช่วยขยายการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2564 ได้มากกว่า 1% ทำให้จีดีพีตลอดปีนี้แตะ 2.3% หรือมากกว่า ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ไว้

⦁เปิดรายละเอียด 4 มาตรการดันเศรษฐกิจ
สำหรับ 4 มาตรการเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ประมาณ 13.65 ล้านคน โดยช่วยเหลือค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นวงเงินรวม 16,300 ล้านบาท

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่ไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง และไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง ได้ จากโครงการเราชนะ ประมาณ 2.5 ล้านคน โดยจะช่วยเหลือค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นวงเงินรวม 3,000 ล้านบาท

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ 31 ล้านคน จะได้รับสิทธิภาครัฐร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน สำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ อาทิ นวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่ารถโดยสารสาธารณะ แบ่งเป็น ช่วงแรกเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน 1,500 บาท และเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 อีก 1,500 บาท รวมไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เป็นวงเงินรวม 93,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 186,000 ล้านบาท

Advertisement

และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยผู้ได้รับสิทธิ 4 ล้านคน ที่ชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (จี-วอลเล็ต) บนแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เวาเชอร์ สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ซึ่งจะคืนเป็นวงเงินใน จี-วอลเล็ตทุกต้นเดือนถัดไป โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ วงเงินสำหรับการดำเนินโครงการรวม 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 268,000 ล้านบาท

⦁หวังสร้างฐานข้อมูลครั้งสำคัญของประเทศ
โดยการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ พบว่าในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 รัฐบาลได้ขอข้อมูลประชาชนเพิ่มเติม และคาดว่าโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ก็จะขอข้อมูลคล้ายกัน ได้แก่ ข้อมูลเรื่องอาชีพและรายได้ ทำให้ประชาชนบางส่วนสงสัยว่าจะนำข้อมูลส่วนนี้ไปทำอะไร และมีความเกี่ยวข้องกับการคัดกรองสิทธิหรือไม่ จนรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องออกมายืนยันว่า การเก็บข้อมูลเพิ่มเติมส่วนนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคัดกรองใดๆ เป็นเพียงการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์และออกแบบนโยบายให้เหมาะสมในอนาคต..เท่านั้น!

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนก็เกิดเหตุการณ์ การอัพเดต แอพพลิเคชั่น เป๋าตัง ซึ่งผู้ดูแลคือ ธนาคารกรุงไทยได้เพิ่มข้อตกลง ที่ต้องยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการนำเสนอและขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัทและพันธมิตร รวมทั้งการยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ในโครงการ ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา จนทำให้ต้องทำการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวไป เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

การเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องการเก็บฐานข้อมูลประชาชน (บิ๊กดาต้า) ของรัฐบาลในสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงาน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือประชาชน เมื่อการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นหนึ่งเดียวจะง่ายต่อการทำงาน ทำนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาในการทำมาตรการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมาก อาทิ โครงการ เราไม่ทิ้งกัน หรือเราชนะ ที่เป็นลักษณะของมาตรการเยียวยา ที่มีความจำเป็นต้องกระจายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมมากที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการทำงานของต่างประเทศ ยังพบว่ารัฐบาลไทยต้องให้ประชาชนทำการลงทะเบียนตัวตนอยู่ โดยพัฒนาขึ้นเพียงให้อยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์ สะท้อนให้เห็นถึงว่ารัฐบาลไม่มี หรือไม่สามารถนำฐานข้อมูลที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อาจเพราะไม่มี หรือมีไม่มากพอ หรือข้อมูลไม่อัพเดตนั่นเอง

⦁รื้อข้อมูลบัตรคนจนขยับเป็นต้นปี’65
นอกจากนี้ พบว่า นโยบายสำคัญอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ดำเนินการมาหลายปีแล้วนั้น ข้อมูลของผู้ถือบัตรฯ ก็ไม่มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ยังไม่มีการคัดกรองข้อมูลประชาชนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีงานทำแล้วให้ออกจากระบบ และไม่มีการตรวจสอบข้อมูลเรื่องรายได้ที่แท้จริงของผู้ถือบัตร ซึ่งอาจจะต้องทำการทบทวนเรื่องรายได้ครัวเรือนด้วย ทำให้มีประชาชนบางส่วนใช้ช่องว่างดังกล่าวในการใช้สิทธิ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา

ตามแผนเดิมกระทรวงการคลังมีนโยบายในการปรับปรุงข้อมูลผู้ถือบัตร มาตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่เมื่อมีมาตรการเยียวยา ในโครงการเราชนะ และมาตรการกระตุ้น ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อนั้น ทำให้ต้องชะลอการปรับปรุงข้อมูลออกไปอีก คาดว่าจะยาวนานไปถึงต้นปี 2565

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐมีฐานข้อมูลอยู่ในมือนั้น แม้จะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ด้วยบริบทของการทำงานของบางหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนบางส่วน ข้อมูลนี้จึงเหมือนเป็นดาบสองคม ถ้ารัฐนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ดี จะเกิดเป็นประโยชน์สูงสุดได้ แต่หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีก็จะเป็นภัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูลได้เช่นกัน ภาครัฐจึงควรมีกฎหมยเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลด้วยเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลและเจ้าของข้อมูลเอง

ภารกิจครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจะสร้างฐานข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ การปรับปรุงแก้ไขระบบ การทำงานราชการต่างๆ ให้ทันยุคสมัย ที่จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล อีโคโนมี หรือสุดท้ายแล้วรัฐบาลแค่ฉวยโอกาสในการเก็บข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อย่างการขยายฐานการจัดเก็บภาษี หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการตรวจสอบจนรุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือไม่

ผลลัพธ์จากเนื้องานจะเป็นข้อพิสูจน์ในไม่ช้า!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image