ถกด่วน 23 มิ.ย. ‘บิ๊กตู่’ เรียกทีม ศก.รัฐ-เอกชน หาทางออกฟื้นธุรกิจ-ประเทศ เอสเอ็มอีลุ้นหั่นเครดิตเทอม

ถกด่วน 23 มิ.ย. ‘บิ๊กตู่’ เรียกทีม ศก.รัฐ-เอกชน หาทางออกฟื้นธุรกิจ-ประเทศ เอสเอ็มอีลุ้นหั่นเครดิตเทอม

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จะเป็นตัวแทนสมาพันธ์เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานในการประชุมด้านมาตรการเศรษฐกิจ แนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจะมีทั้งตัวแทนจากภาครัฐ คือ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น รวมถึงตัวแทนจากองค์กรภาคเอกชน รวมประมาณ 20 คน โดยในส่วนของสมาพันธ์ฯจะนำเสนอมาตรการที่เป็นวัคซีนทางเศรษฐกิจ 9 เข็ม โดยฉีด 3 เข็มเร่งด่วนป้องการการติดเชื้อล้มละลายและหยุดเลือดที่ไหล คือ 1.พักต้น-พักดอก-เติมทุน 2.สินเชื่อ Factoring ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษีเอสเอ็มอี 3.กองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาท อีก 3 เข็ม สำหรับการฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. … กระทรวงอุตสาหกรรม 2.สินเชื่อฟื้นฟูการเป็นเอ็นพีแอล 3.กองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอีไทย และอีก 3 เข็ม สำหรับการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน 1.มาตรการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจชาติ 2.เอสเอ็มอีชุมชนสร้างสรรค์ และจ้างงานผู้ว่างงานพัฒนาเอสเอ็มอีท้องถิ่น 3.แฟรนไชส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย รวมถึงรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีไทยที่เผชิญปัญหาหนักในขณะนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายแสงชัยกล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าหลายธุรกิจและรัฐบาลหากให้เร่งรัด 3 เรื่อง และสมาพันธ์ก็เตรียมเสนอ คือ 1.เรื่องลดเวลาจ่ายเครดิตเทอม (Credit Term) ไม่เกิน 30 วัน จากปัจจุบันในความเป็นจริงส่วนใหญ่ยังยึด 60-120 วัน และให้นับจากวันที่ส่งสินค้า ไม่ใช่นับจากวันที่มีการวางบิลยอดชำระเงิน หากเป็นผู้ผลิตสินค้าโอท็อปเป็นเงินสดไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนให้เร็วขึ้น 2.รัฐควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้รับรู้และใช้ประโยชน์มากขึ้น จากการที่รัฐออกระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement System : e-GP) ที่โครงการรัฐหรือเมกะโปรเจ็กต์ต้องซื้อจากรายเล็กกว่า 30% ของวงเงินโครงการ 3.ผลักดันเรื่องสินเชื่อ Factoring ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษีเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ลดปัญหาขาดสภาพคล่องและประคองการจ้างงาน

“ตอนนี้การดูแลเศรษฐกิจประเทศจะทำแบบอีเวนต์ไม่ได้ ต้องวางแผนระยะยาว และต้องทำบนพื้นฐานคู่คือด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่แยกกันไม่ได้ในวันนี้ เพราะหากแยกกันจัดงาน ในการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่มีจุดจบที่แน่ชัด งบ 1 ล้านล้านบาท กู้กี่ครั้งก็อาจไม่เพียงพอ ที่เราเสนอคือใช้เครื่องมือที่มีอยู่ แต่ต้องฟันธงว่าอะไรทำได้เร็วและอะไรต้องเร่งแก้เพื่อนำมาใช้ได้จริง เราลงพื้นที่และมีเครือข่ายทั่วประเทศ เราจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร เดือดร้อนอย่างไร เพื่อให้รัฐแก้ได้ตรงจุดตรงความต้องการ ไม่อยากให้ออกมาตรการที่คุมไปหมด” นายแสงชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image