‘บิ๊กตู่’ นัดถกภาคธุรกิจฟื้นเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีชง ‘วัคซีน ศก.’ 9 เข็ม

‘บิ๊กตู่’ นัดถกภาคธุรกิจฟื้น ศก. เอสเอ็มอีชง ‘วัคซีน ศก.’ 9 เข็ม

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ จะหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่ออัพเดตอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี)รวมถึงกลุ่มค้าปลีก เพราะเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ การอัดฉีดสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบของสถาบันการเงิน แบบความเสี่ยงต่ำในระดับที่รับได้ รัฐบาลควรมีนโยบายกลางออกมาให้สถาบันการเงินปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อออกมาเพิ่มเติม เปรียบเหมือนการประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกฯที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่เป็นความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไป อย่างน้อยต้องเร่งให้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้าน ออกมาให้มากกว่านี้

นายสนั่นกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ได้หารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ และจะหารือเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเกียรตินาคินภัทร เบื้องต้นเห็นความต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว แต่อาจยังมีข้อจำกัดที่ต้องพยายามทำให้เป็นเงื่อนไขเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากที่สุด

นายสนั่นกล่าวว่า ส่วนโครงการโกดังพักหนี้ ขณะนี้การเข้าถึงได้น้อย เนื่องจากเงื่อนไขยังไม่เอื้อมากนัก โดยมีการพิจารณาจากเครดิตบูโร ที่มองว่าไม่ควรนำเข้าร่วมเป็นเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงควรมีเงื่อนไขหรือหลักปฏิบัติตรงกลางที่ใช้ในทิศทางเดียวกัน เพื่อเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น โดยจะหารือร่วมกับสถาบันการเงินให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะนำรายละเอียดหารือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งส่วนมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานหรือโคเพย์ ระหว่างเอกชนและรัฐบาลคนละ 50% เพื่อพยุงการจ้างงานนั้น รัฐบาลควรต้องเร่งออกมา เพราะขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว ผลกระทบจากโควิดทำให้รายได้ลดลงต่อเนื่อง ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมออกมา อาจต้องเปลี่ยนชื่อจากมาตรการโคเพย์ เป็นอย่างอื่นแทน เพราะพอพูดถึงโคเพย์แล้วมีคำถามตามมาว่าทำไมรัฐบาลต้องนำเงินมาช่วยผู้ประกอบการด้วย จึงต้องหารือร่วมกับเอกชนและรัฐบาล ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือเงื่อนไขให้ทำในลักษณะใดได้บ้าง

Advertisement

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ในวันที่ 23 มิถุนายน จะเป็นตัวแทนสมาพันธ์เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมด้านมาตรการเศรษฐกิจ แนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงตัวแทนจากองค์กรภาคเอกชนประมาณ 20 คนเข้าร่วม

นายแสงชัยกล่าวว่า ในส่วนของสมาพันธ์นอกจากจะรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีไทยที่เผชิญปัญหาหนักจากการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว จะนำเสนอมาตรการวัดซีนทางเศรษฐกิจ 9 เข็ม โดยฉีด 3 เข็มเร่งด่วนป้องกันการติดเชื้อล้มละลายและหยุดเลือดที่ไหล คือ 1.พักต้น-พักดอก-เติมทุน 2.สินเชื่อแฟคตอริ่ง ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษีเอสเอ็มอี 3.กองทุนประกันสังคม 30,000 ล้านบาท อีก 3 เข็มสำหรับการฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ของกระทรวงอุตสาหกรรม 2.สินเชื่อฟื้นฟูการเป็นเอ็นพีแอล 3.กองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอีไทย และอีก 3 เข็มสำหรับการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน คือ 1.มาตรการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจชาติ 2.เอสเอ็มอีชุมชนสร้างสรรค์ และจ้างงงานผู้ว่างงานพัฒนาเอสเอ็มอีท้องถิ่น 3.แฟรนไชส์ไทย สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจไทย

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลให้เสนอเรื่องเร่งรัด 3 เรื่อง สมาพันธ์ก็เตรียมเสนอ คือ 1.ลดเวลาจ่ายเครดิตเทอมไม่เกิน 30 วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 60-120 วัน และให้นับจากวันที่ส่งสินค้า ไม่ใช่นับจากวันวางบิล หากเป็นผู้ผลิตสินค้าโอท็อปให้จ่ายเป็นเงินสดไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนหมุนเวียนเร็วขึ้น 2.รัฐควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้รับรู้และใช้ประโยชน์มากขึ้น จากการที่รัฐออกระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ที่โครงการรัฐหรือเมกะโปรเจ็กต์ต้องซื้อวัตถุดิบจากรายเล็กกว่า 30% ของวงเงินโครงการ 3.ผลักดันเรื่องสินเชื่อแฟคตอริ่ง ใบสั่งซื้อ-ใบกำกับภาษีเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ลดปัญหาสภาพคล่องและประคองการจ้างงาน

Advertisement

“ตอนนี้การดูแลเศรษฐกิจประเทศจะทำแบบอีเวนต์ไม่ได้ ต้องวางแผนระยะยาว และต้องทำบนพื้นฐานคู่คือด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่แยกกันไม่ได้ในวันนี้ เพราะหากแยกกันจัดงาน ในการแพร่ระบาดโควิด ที่ยังไม่มีจุดจบที่แน่ชัด งบ 1 ล้านล้านบาท กู้กี่ครั้งก็อาจไม่เพียงพอ ที่เราเสนอคือใช้เครื่องมือที่มีอยู่ แต่ต้องฟันธงว่าอะไรทำได้เร็วและอะไรต้องเร่งแก้เพื่อนำมาใช้ได้จริง เราลงพื้นที่และมีเครือข่ายทั่วประเทศ เราจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร เดือดร้อนอย่างไร เพื่อให้รัฐแก้ได้ตรงจุด ตรงความต้องการ ไม่อยากให้ออกมาตรการที่คุมไปหมด” นายแสงชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image