คมนาคมเร่งยกเครื่องสนามบินสู่ ‘ระบบดิจิทัล’ รับเปิดประเทศ-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 100 ล้านคน

สุทธิพงษ์ คงพูล

คมนาคมเร่งยกเครื่องสนามบินสู่ ‘ระบบดิจิทัล’ รับเปิดประเทศ-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 100 ล้านคน

เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 23 มิถุนายน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมสัมมนา “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “เปิดแผนคมนาคมเปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน

นายสุทธิพงษ์เปิดมุมมองการเปิดประเทศใน 120 วัน ว่า ต้องมอง 2 ระยะ โดยส่วนตัวยังห่วงเรื่องการเตรียมตัวไม่ทันการกลับมาเติบโตมากกว่า สำหรับการเปิดประเทศได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้ามาหลายเดือนและเช็กความพร้อมทุกๆ ด้าน แต่การลงทุนในระยะต้นๆ ยังไม่มีการลงทุน เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยค่อนข้างดี ในช่วงที่ผู้โดยสารหายไปได้มองถึงการเตรียมความเป็นมาตรฐานของระบบต่างๆ ที่สนามบินหยุดใช้งานไป เพื่อเตรียมพร้อมกลับมาบิน และเน้นย้ำให้ดูแผนสำรองจะครอบคลุมไปถึงกรทำงานร่วมกับระบบสาธารณสุขและจังหวัดด้วย

Advertisement

“การเปิดประเทศที่ภูเก็ตก็ดี ในระยะ 120 วันก็ดี ในส่วนของคมนาคมด้านการบินมีความพร้อม แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงคือโจทย์ของขนส่งทางอากาศ จริงๆ เชื่อมโยงมาจากยุทธศาสตร์ของประเทศ ในช่วงปี 2562 เป็นปีแรกที่ไทยมีเที่ยวบินมากสุด 1.5 ล้านเที่ยวบิน ในนี้มีผู้โดยสารต่างชาติประสาร 40 ล้านคน และมีรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวอยู่ประมาณไม่ถึง 2 ล้านล้านบาท

“ยุทธศาสตร์ของชาติที่บอกว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เรามีคีย์เวิร์ดที่จะต้องไปถึงให้ได้ นั่นคือ พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเรายังไม่พ้น เรายังต้องการผู้โดยสารเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวเท่าไหร่” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อไปดูศักยภาพของประเทศที่มีการท่องเที่ยวเหมือนประเทศไทย นักท่องเที่ยวเขามามากกว่าประชากรอีก เพราะฉะนั้นนโบายที่จะต้องรองรับคนให้ได้ 200 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็น 100 ล้านคน ไม่เกินเลย นี่คือเรื่องจริงที่ต้องไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นเป้าหมายรายได้เราไม่ถึงเป้าแน่ อย่างที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมการบินเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 15-16% ของจีดีพี

Advertisement

“ดังนั้น ต้องตั้งโจทย์ว่าแล้วจะมีต่างชาติ นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยเป็นร้อยๆ ล้านคน จะมีความสามารถในการบริหารจัดการยังไง ต้องย้อนกลับไปดูในปี 2562 เป็นจุดสูงสุดของประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น มีเที่ยวบิน 1.5 ล้านเที่ยวบิน ผู้โดยสารต่างชาติยังไม่ถึงเป้า ทำให้รายได้ไม่เป็นที่พอใจ

“เรากำลังพูดถึงตัวเลข 2-3 เท่าเราจะไปหามาจากไหน ความสามารถในการองรับเหล่านี้มาจากไหน ที่จริงแล้วสนามบินที่มีอยู่เพียงพอ พื้นที่ประเทศเพียงพอ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน การบินของประเทศไทยต้องปรับจูนไปสู่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น อย่างรวดเร็วและในทุกมิติด้วย” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ มีข้อมูลจากทางไออาต้า (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) คาดการณ์อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นตลาดการบินอันดับ 10 ของโลก หมายความว่าแซงประเทศใหญ่ๆ ในหลายประเทศ ในอันดับ 10 ของโลก มหานครทางการบินซึ่งกรุงเทพฯเป็นอยู่แล้ว จะมีภูเก็ตเพิ่มมาอีก 1 แห่ง

“แต่ไออาต้าทำนายไว้ว่า ปัญหาของประเทศไทยจะอยู่ที่ว่าจะสามารถบริหารจัดการ เพื่อสร้างความสามารถในการรองรับได้หรือเปล่า เขาคำนวณมาจากศักยภาพการท่องเที่ยว ยิ่งนิวนอร์มอล ยิ่งโควิด คนอื่นเดือดร้อน แต่ไทยได้เปรียบ เพราะอะไร ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่สามารถเที่ยวทางออนไลน์ได้ แต่การประชุมทางออนไลน์ได้ ประเทศที่เป็นฐานธุรกิจจะได้เปรียบ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ดังนั้น เป้าหมายที่เราจะมีผู้โดยสารต่างชาติเป็นร้อยๆ ล้านคน จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเครื่องบินยังมีการดีเลย์ ล่าช้า ต้นทุนสำคัญ ซึ่งสายการบินที่บินเข้ามาเขาจะคำนวณว่าเข้ามาแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ทุกคนเห็นโอกาส เห็นความเป็นเฟิร์สพอร์ต ซึ่งการเสียโอกาสจะเสียหายมาก

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ สายการบินต่างๆ จะเลือกมาไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาแล้วจะคุ้มหรือไม่ ถ้าชิปเดสทิเนชั่นทางอากาศไปได้ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรถือว่าน้อยมาก ผู้โดยสารยังมีอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่เขาเปลี่ยนไปประเทศอื่น ไทยจะเสียโอกาสด้ายการบิน การท่องเที่ยว

“การพัฒนาด้านอุคสาหกรรมการบิน นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาคือระบบดิจิทัลในทุกมิติ จะมาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะการขนส่งต้องแข่งขันเรื่องต้นทุนต่ำ ผู้ประกอบการบินมาแล้วคุ้มค่า สะดวก ปลอดภัย เป็นนโยบายที่จะต้องผลักดัน ซึ่งโจทย์สำคัญคือต้องพัฒนาระบบดิจิทัล” นายสุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า และช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image