ทอท.ฝ่าโควิดอัด 3.8 แสนล้านลงทุน ‘สนามบิน’ รับธุรกิจการบินฟื้นปี’66

ทอท.ฝ่าโควิดอัด 3.8 แสนล้านลงทุน “สนามบิน” รับธุรกิจการบินฟื้นปี’66

เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นาย นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ร่วมสัมมนา” Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนว่า

ก่อนจะเกิดโควิด-19 ทอท.มี 6 สนามบิน รองรับผู้โดยสารได้ 140 ล้านคน ขณะที่สนามบินมีศักยภาพรองรับได้ 100 ล้านคน เกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้อยู่ 40% ทั้งนี้เมื่อเกิดโควิดผู้โดยสารเหลือประมาณ 12,000 คนต่อวัน จากเดิมรับได้วันละ 400,000 คน คาดว่าปี 2565 ผู้โดยสารจะกลับมา 73 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 50% ของก่อนเกิดโควิด

“การกลับมาทางด้านฝั่งดีมานด์ค่อนข้างรวดเร็ว คาดว่าปี 2566 ผู้โดยสารน่าจะกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด จะใช้เวลาจากนี้อีก 2 ปี แต่การกลับมานี้จะเป็นในระดับที่เกินศักยภาพจะรับได้ ซึ่งจริงๆ ในปีหน้าจะเต็มขีดความสามารถแล้ว “

นายนิตินัยกล่าวอีกว่า ดังนั้นการลงทุนสนามบินจะไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1-2 ปี จะใช้เวลานาน จึงต้องเดินหน้าการขยายสนามบิน จากแผนการลงทุนในปี 2568 ถึงจะมีสนามบินใหญ่รองรับผู้โดยสาร ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ไม่มีผู้โดยสารเลย อีก 1-2 ปีข้างหน้าจะกลับสู่สภาวะที่ผู้โดยสารล้นสนามบินจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือสำหรับผู้บริหารสนามบินในด้านการบริหารจัดการ

Advertisement

“สำหรับการลงทุน ทอท.มีแผนจะลงทุนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประมาณ 3.87 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนที่สูง 2 เท่า เมื่อเทียบอายุของทอท. 36 ปี และสินทรัพย์มีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท“

นายนิตินัยกล่าวถึงการเตรียมตัวเปิดประเทศใน 120 วัน สิ่งที่จะต้องทำคือการฟื้นคืนศักยภาพ คือ การเตรียมความพร้อม และการโอเปอเรตภายใต้นิวนอร์มอล คือการก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นและผู้โดยสารจะต้องทำให้กลับมาเหมือนเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว เป็นนโยบายที่ได้รับมอบหมาย

“การปฏิบัติ ต้องดูความพร้อมของ ทอท. ความพร้อมของสายการบินและความพร้อมของประเทศ ซึ่งการที่เริ่มคิกออฟที่ภูเก็ตเป็นการทดสอบเริ่มจาก ASQ ที่เป็นห้อง เป็นพื้นที่และทั้งประเทศ เป็นการเปิดประเทศ เหมือนกับเราอยู่ในไอซียูเป็นอัมพาตอยู่ปีครึ่งถึง 2 ปี กำลังเรียนรู้ กำลังขีดสีดูว่าเส้นเลือดไหนมันตีบมันตันบ้าง อย่าไปคาดหวังว่าพรุ่งนี้จะลุกมาวิ่งได้ ต้องช่วยกัน ไม่ทะเลาะกัน ผมเชื่อว่าการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในช่วงแรกปัญหายังมี แต่เป็นปัญหาปกติของคนที่เป็นอัมพาตอยู่ปีกว่า ลุกขึ้นมาทำกายภาพ ถ้าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเราจะมีกำลังใจ ”

Advertisement

นายนิตินัยกล่าวว่า ในส่วนของ ทอท.เอง ไม่เป็นห่วงมาก เนื่องจากเคยผ่านการรองรับผู้โดยสารจำนวนมากมาแล้วก่อนหน้านี้ เรื่องของอาคาร ระบบ อุปกรณ์ ต่างๆ ได้มีการลงทุนเตรียมรองรับผู้โดยสารไว้แล้ว ด้านพนักงานมีประสิทธิภาพ เพียงพอ และไม่เคยลดคุณภาพ

“ที่ยังน่าห่วงคือสายการบิน ไม่รู้ว่าเมื่อเปิดน่านฟ้าแล้วแผนฟื้นฟูเป็นยังไง บางสายการบินถูกเทกโอเวอร์ เปลี่ยนเจ้าของไปหรือยัง การบริการภาคพื้นบางทีหมดอายุ ติดข้อกฎหมาย จะมีโอเปอเรเตอร์คนไหนไปช่วยได้ไหม “

อย่างหลุมจอดที่สุวรรณภูมิมี 100 กว่าหลุม จะมีสายการบินไหนที่อาจจะต้องกราวด์เครื่องบิน เพราะว่าติดข้อจำกัดต่างๆ เราจะเคลียร์หลุมจอดอย่างไร สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากมาย ตอนนี้เราได้ตั้งข้อสมมุติฐานว่า ถ้าสายการบินไม่ล้มจำนวนเท่านี้ ถ้าผู้ประกอบการยังคงอยู่ ถ้าผู้โดยสารยังอยู่ ถ้าแท็กซี่จะยังไม่กลับบ้านเกิด โลจิสติกส์ต่างๆ ถ้ายังเพียงพอ เป็นสิ่งที่จะต้องมีการแก้ปัญหาไปพร้อมกับบริการ การเปิดประเทศ

สำหรับการเดินหน้าไปข้างหน้า เป็นการเตรียมความพร้อมของการบริหารจัดการแบบนิวนอร์มอลภายใต้กฎเกณฑ์ระบบสาธารณสุข อย่างแรกต้องลดคน ลดสัมผัส จะเกี่ยวกับการดิจิทัลดิสรัปชั่น ไม่ว่าจะเกิดโควิดหรือไม่เกิด ดิสรัปชั่นมาแล้ว แต่โควิดเร่งให้เกิดในมิตินอกจากการให้บริการ มีเรื่องระบบสาธารณสุขเข้ามา ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตามแต่ละสนามบินมีเรื่องไอทีอยู่แล้วกระจายเป็นกลุ่มๆ แต่ต้องเพิ่มคน เพราะปัญหาของไอทีจะมีโซลูชั่นที่แตกต่างกัน เช่น ที่จอดรถ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยแรงกดดันด้านดิสรัปชั่น ทำให้ปรับปรุงไอทีไประดับหนึ่ง เรียกว่าสนามบินมีชีวิต สนามบินไหนที่มีไอทีอยู่แล้ว แค่เชื่อมโยงเข้าระบบ ผ่านมือถือ เช่น เช็กอินได้จากมือถือ เข้าไปบอร์ดดิ้งพาสได้เลย ซึ่งเป็นกรีนฟีลด์ แต่บราวน์ฟีลด์ก็มีเป็นการเชื่อมสัญญาณต่าง จะต้องเชื่อมโยงกันหมด เป็นสิ่งที่ ทอท.ทำมาตลอด 2 ปี

“หลังเปิดน่านฟ้านี้จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะติดเสร็จ 180 เครื่อง เตรียมรับเปิดสนามบิน จาก 6 สนามบิน จะเริ่มที่สุวรรณภูมิก่อน เนื่องจากสนามบินอื่นๆ ติดสัญญาเก่า แต่จากปีนี้ถึงสิ้นปีหน้า น่าจะเปลี่ยนทุกสนามบิน สำหรับภูเก็ตจะได้ใช้ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีหน้า แต่ในส่วนของบราวน์ฟีลด์ติดหมดแล้ว” นายนิตินัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image