เปิดแผนงานคมนาคม เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ‘คน-สินค้า’ สร้างความเข้มแข็ง ลดข้อจำกัด

เปิดแผนงานคมนาคม เร่งพัฒนาระบบขนส่ง ‘คน-สินค้า’ สร้างความเข้มแข็ง-ลดข้อจำกัด

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวงานสัมมนาหัวข้อ “Empowering Thailand 2021” เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน ในรูปแบบไลฟ์  สตรีมมิ่งทางเฟซบุ๊ก ภายในช่วงเสวนาหัวข้อ “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไทย แบ่งเป็น 2 มิติ คือ นโยบายหลักมาจากรัฐบาล หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงสู่กระทรวงคมนาคม ก่อนจะแปลงมาเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ส่วนใหญ่เป็นนโยบายระยะยาว หรือนโยบายในภาพใหญ่ ซึ่งเตรียมแผนไว้ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ที่ต้องมีนโยบายระยะสั้นออกมารับมือก่อน แต่นโยบายหลักในภาพใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลมาจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป็นหลักอยู่แล้ว

นายชยธรรม์กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แปลงนโยบายหลักของรัฐบาล มาเป็นนโยบายการทำงานของกระทรวงคมนาคมที่ชัดเจน โดยการระบาดโควิดเป็นเหมือนการเกิดอุบัติเหตุ เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด ทำให้ต้องพยายามแก้ไขปัญหาโควิดก่อน อาทิ การกำหนดให้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเกิดโควิดไม่ได้กระทบแค่ไทยเท่านั้น แต่กระทบไปทั้งโลก จึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่ (เซตซีโร่) ระบบของโลกทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงให้นโยบายในการทำงาน ควรทำอย่างไรให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแรงเร็วกว่าคนอื่นได้

นายชยธรรม์กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งคมนาคม ไม่ใช่เรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการแข่งขันของประเทศ โดยกระทรวงคมนาคม แบ่งเป็น 8 กรม และ 11 รัฐวิสาหกิจ ซึ่งทั้งหมดทำงานร่วมกัน กระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องทำหน้าที่หลักในการขนส่ง 2 สิ่ง ได้แก่ 1.ขนส่งคน และ 2.ขนส่งสินค้า จากต้นทางไปสู่ปลายทาง ผ่านระบบ 4 มิติ คือ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศอากาศ อาทิ หากเป็นการบริโภคภายในประเทศ จะใช้การขนส่งผ่านทางบก หรือทางน้ำ แต่หากขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก จำเป็นต้องอาศัยทางน้ำ และทางอากาศ

Advertisement

“ช่องทางทั้งหมดนี้ จะต้องทำได้แบบสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคมทำงานทุกวัน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายตรงนั้น เพราะทั้งหมดถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแรงด้านการแข่งขันของประเทศ หลังจากโควิดคลายตัวลง แต่มีหลายส่วนประเมินว่าเรายังต้องอยู่กับโควิดอีกนาน การหาวิธีทำให้เศรษฐกิจกลับมาแบบแข็งแรงและมั่นคง มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่ระบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่จะต้องทำโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาอย่างเป็นระบบด้วย

“โดยมีความจำเป็นต้องหาวิธีทำให้ประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางอยู่แล้วตามที่ตั้งภูมิประเทศ เป็นศูนย์กลางจริงๆ ในการขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ทั้งการขนส่งสินค้าและบริการ รวมถึงขนส่งคนจากการท่องเที่ยว ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มแบบมหาศาล โดยการขนส่งสินค้าจะสะดวกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ขนส่งสินค้าในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงสินค้าไปต่างประเทศด้วย เพราะในปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าผ่านทางเรือ แต่สายเดินเรือระดับโลกแล่นผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีบางประเทศที่ได้ประโยชน์เท่านั้น” นายชยธรรม์กล่าว

Advertisement

นายชยธรรม์กล่าวต่อว่า ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นจะเป็นส่วนช่วยเชื่อมให้ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยหากมองย้อนกลับไปจะต้องเห็นปัญหาในระบบต่างๆ อาทิ การเดินทางและขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องความแออัด ทั้งลานวิ่งของเครื่องบิน (รันเวย์) และอาคารผู้โดยสาร จะส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ผ่านทางอากาศ รวมถึงการขนส่งทางบกและทางราง ที่ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าค่อนข้างสูง เพราะที่ผ่านมาในอดีต นิยมส่งสินค้าผ่านทางบกมากที่สุด ทำให้ระบบรางมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการขนส่งของผ่านทางบก หรือถนนเป็นหลักนั้น มีปัญหาอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด ซึ่งจะต้องแก้ไขให้เป็นระบบมากขึ้น รวมถึงการขนส่งระหว่างเมือง พัฒนาให้มีความสะดวกมากขึ้น อาทิ สร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างรถบรรทุกและทางราง ซึ่งเมื่อใช้งานได้สะดวกขึ้น และต้นทุนถูกลง ในอนาคตจะมีคนหันมาใช้ระบบรางในการขนส่งมากขึ้น

“แผนการทำงานของกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ส่งลงมา เป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย ที่มองข้ามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในอีก 120 วันแล้ว ถือเป็นการมองไปไกลกว่านั้น แต่การเปิดรับต่างชาติใน 120 วัน กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกันในทุกมิติไว้แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย” นายชยธรรม์กล่าว

ทั้งนี้ การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า และช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image