‘กรมทางหลวง’ เล็งเบิกจ่ายงบ 1 แสนล้านบาท ให้ได้ 100% ใน ส.ค.นี้ กระตุ้นเศรษฐกิจเคลื่อนที่

‘กรมทางหลวง’ เล็งเบิกจ่ายงบ 1 แสนล้านบาท ให้ได้ 100% ใน ส.ค.นี้ กระตุ้นเศรษฐกิจเคลื่อนที่

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “Empowering Thailand 2021” เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งทางเฟซบุ๊ก ช่วงเสวนาหัวข้อ “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า หน่วยงานทางถนนของกระทรวงคมนาคม มี 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กรมทางหลวง 2.ทางหลวงชนบท และ 3.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งคนไทยในปัจจุบันนิยมเดินทางด้วยถนนมากสุด โดยโครงข่ายถนนของกรมทางหลวงมีประมาณ 5 หมื่นกิโลเมตร กรมทางหลวงชนบท 4 หมื่นกิโลเมตร รวมประมาณ 1 แสนกิโลเมตร หากเทียบกับถนนทั้งประเทศคิดเป็น 20% จากถนนทั่วประเทศ แต่เนื่องจากถนนเส้นที่กรมทางหลวง ภายใต้กระทรวงคมนาคมดูแลอยู่นั้น เป็นถนนที่มีขนาดใหญ่ หรือถนนสายหลัก ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการเดินทางทางบก โดยการเดินทางแต่ละวันผ่านโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม มีประมาณ 80% จากภาพรวม อาทิ ถนนเส้นวิภาวดี-รังสิต การเดินทางใน 1 วัน อาจเท่ากับการเดินทางของคนในท้องถิ่นสะสม 15 วัน ทำให้ความสำคัญของโครงข่ายการเดินทางทางบกมีความสำคัญมาก สะท้อนได้จากงบประมาณของภาครัฐส่วนใหญ่จะลงไปที่กรมทางหลวงและทางหลวงชนบทกว่า 80%

นายสราวุธ กล่าวว่า การขับเคลื่อนในด้านเศรษฐกิจ งบประมาณของภาครัฐถือเป็นส่วนช่วยหลัก โดยนโยบายของรัฐบาล ยกตัวอย่างในเดือนกันยายนนี้ จะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 100% ของงบเบิกจ่าย แต่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สั่งการเบิกจ่ายในเดือนสิงหาคมนี้ ให้ได้ 100% แทน เพราะหากรอจนถึงเดือนกันยายน อาจช้าเกินไป โดยล่าสุดกรมทางหลวงเบิกจ่ายงบประมาณแล้วกว่า 60% ส่วนที่เหลือจะทำเต็มที่ ทำให้การกระตุ้นการลงทุน นำเม็ดเงินของกรมทางหลวง ที่ต้องการให้ลงไปสู่ภาคเอกชนและประชาชน นโยบายของกระทรวงคมนาคม ยังให้ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องประเมินส่า กิจกรรมใดของกรมทางหลวง ที่สามารถหมุนเม็ดเงินลงสู่ชาวบ้านได้ อาทิ การซ่อมบำรุง และมีการก่อสร้าง โดยมีจุดประสงค์คือ ต้องพัฒนาให้เดินทางสะดวก ปลอดภัย และมีความสวยงาม เนื่องจากจะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว หน่วยงานจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้

“การดูแลโครงการต่างๆ เหล่านี้ บางเรื่องไม่ต้องใช้ทักษะทางการช่างมากนัก จึงมีการจ้างแรงงานชั่วคราว เพื่อทำงานที่ไม่เสี่ยงอันตรายมากนัก อาทิ ช่วงภัยแล้ง ชาวนาปลูกข้าวไม่ได้ ก็มีการจ้างงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว โดยงบลงทุนของกรมทางหลวงมีประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี มีโครงการใหม่ในแต่ละปีประมาณ 5,000 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่จำพวกสร้างถนนใหม่ หรือขยายช่องจราจรเป็น 4 ช่องเกือบทั้งหมด ส่วนทางหลางชนบทมีโครงการใหม่ ประมาณ 4,000 โครงการ ซึ่งพยายามผลักดันและเร่งรัด เพื่อกระตุ้นให้เบิกจ่ายได้ทันตามที่กำหนดไว้” นายสราวุธ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image