สนข. ชู ‘แลนด์บริดจ์’ เปิดประตูการค้าด้านใต้ หวังไทยกลับมาเป็นหนึ่งอาเซียน-มหาอำนาจของโลก

สนข. ชู ‘แลนด์บริดจ์’ หวังไทยกลับมาเป็นหนึ่งในอาเซียน และเป็นมหาอำนาจของโลก

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมสัมมนา “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” รูปแบบไลฟสตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊กในในหัวข้อ “เปิดแผนคมนาคม เปิดประเทศ ขับเคลื่อนอนาคตไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ทาง สนข.รับผิดชอบในเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนของกระทรวงคมนาคม โดยการนำของรัฐมนตรีฯ เรื่องของการคมนาคมต้องแยกออกเป็นการขนส่งสินค้าและการขนส่งคน

นายปัญญากล่าวว่า ในเรื่องของการขนส่งสินค้า ผลักดันให้ปรับเปลี่ยนการขนส่งทางถนนไปเป็นระบบรางและน้ำให้เพิ่มขึ้น ประโยชน์คือมีความปลอดภัยมากขึ้น แทนที่รถบรรทุกจะวิ่งบนถนนเยอะ ปะปนกับรถส่วนบุคคล ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีคนตาย ก็ปรับเปลี่ยนแยกออกจากกันให้ชัดเจน ทำให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของต้นทุนที่ถูกลง สินค้าที่ไปค้าขายต่างประเทศก็จะมีราคาถูก สู้กับต่างประเทศได้

นายปัญญากล่าวว่า การขนส่งคน จะต้องมีการลดการรถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลง ลดการใช้ถนนลง ลดมลพิษ ลดอุบัติเหตุ การจะเกิดแบบนั้นได้ต้องมีระบบการขนมวลชนส่งที่ดี การที่มีรถไฟฟ้าครบก็ยังไม่พอ จากบ้านไปรถไฟฟ้าต้องเดินทางอย่างไร ต้องหาระบบป้อน (Feeder) ให้คนออกจากบ้านไปยังรถไฟฟ้าด้วยระบบลำลอง ไปยังจุดหมายปลายทาง แล้วก็ต้องมีระบบลำลองพาไปยังที่ทำงานต่ออีก

Advertisement

นายปัญญากล่าวต่อว่า นอกจากจะผลักดันระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯแล้ว ต้องผลักดันตามหัวเมืองหลัก อย่างที่รัฐมนตรีฯได้กล่าวเอาไว้ มีการผลักดันให้เกิดการใช้ระบบขนส่งมวลชนให้เยอะขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลง และเริ่มการเชื่อมต่อระหว่างเมือง พยายามผลักดันให้มีระบบรถไฟความเร็วสูง ถ้ารถไฟความเร็วสูงเสร็จ ก็จะเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังนครราชสีมา ใช้เวลาเพียงสั้นๆ โดยไม่ต้องขับรถยนต์ไปให้เหนื่อย เป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคมผลักดัน แผนการขนส่งคน และแผนการขนส่งสินค้า

“ต่อมาสิ่งที่ สนข.รับผิดชอบ ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีคือ โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่สำคัญ กระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาอยู่ ภายในต้นปีหน้ารูปแบบโครงจะแล้วเสร็จ คร่าวๆ จะมีองค์ประกอบของท่าเรือ ทั้งฝั่งชุมพรและระนอง จะเป็นการเชื่อมต่อด้วยระบบราง และถนนมอเตอร์เวย์ โดยประโยชน์ที่คาดหวังคือ ประเทศไทยจะมีประตูการค้าทางด้านใต้ ทั้งด้านตะวันออกและด้านมหาสมุทรอินเดีย ที่ไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่จะสามารถนำเข้าส่งออกสินค้าได้

Advertisement

“ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ทำสำเร็จ ประเทศไทยจะมีประตูการค้าอยู่ด้านใต้ จะเป็นประตูสำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน สินค้าต่างๆ สามารถส่งผ่านมายังตรงนี้ได้ ผ่านทางรางผ่านทางมอเตอร์เวย์ ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน” นายปัญญากล่าว

นายปัญญากล่าวว่า นอกจากเป็นประตูการค้าแล้วยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่ของโลก ที่ผ่านทางแลนด์บริดจ์ เคยให้ผู้เชี่ยวชาญลองไปศึกษาดูว่าการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปคุณหมิง โดยใช้เส้นทางเดิมผ่านช่องแคบมะละกา เทียบกับการใช้ทางแลนด์บริดจ์ พบว่าใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า 5-7 วัน เมื่อประหยัดเวลาขนาดนี้ ผู้ประกอบการจะเลือกทางใด สิ่งที่ตามมาคือเกิดอุตสาหกรรมการเติมน้ำมัน การซ่อมบำรุงเรือ เมื่อเรือดจอดต้องต้องส่งอาหารขึ้นไปบนเรือ

นายปัญญากล่าวต่อว่า ต่อมาก็เกิดอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สิ่งที่ตามมาขณะที่จอดเรือ คนเรือจะต้องลงพื้นดิน เพื่อพักผ่อน 5-6 วัน สิ่งที่ตามมาคือเกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชุมพร ระนอง หัวหิน ชะอำ ภูเก็ต พวกโรงแรมร้านอาหารจะมีรายได้เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาหลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะกลับมาพลิกฟื้นให้กลับมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และเป็นมหาอำนาจตัวหนึ่งของโลกได้

“ตามแผนที่รัฐมนตรีได้สั่งการมาภายในต้นปี 2565 รูปแบบของโครงการแลนด์บริดจ์ จะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จ ปี 2566 จะดำเนินการประมูล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งท่าเรือ ระบบราง มอเตอร์เวย์ จะต้องทำโครงการแบบพีพีพี เป็นแพคเกจเดียว เพื่อให้เกิดการบูรณาการทีเดียว

“พอเรือมา ต้องมารอขึ้นรถไฟ ต้องมารอขึ้นรถบรรทุก ในหน่วยงานเดียวที่บูรณาการร่วมกัน โดยใช้ระบบไอที ระบบไอทีเอฟ มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) มาประกอบด้วย” นายปัญญากล่าว

ทั้งนี้ การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า และช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image