‘จุรินทร์’ ตีปี๊บ ตัวเลขส่งออก พ.ค. 64 พุ่ง 41.59% สูงสุดรอบเกือบ 11 ปี สหรัฐ-อียู-จีน เริ่มฟื้น

‘จุรินทร์’ เผยส่งออก พ.ค. 64 พุ่งถึง 41.59% สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี กาง 5 แผนขับเคลื่อนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง คาดตัวเลขส่งออกทั้งปี 64 อาจจะเป็น 2 หลักได้

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 41.59% นับเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก การส่งออกจะขยายตัวที่ 45.87% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,261.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 63.54% มีมูลค่าเกินดุลการค้า 795.95 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกรวม 5 เดือนแรกของปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 108,635.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.78% และเมื่อหักน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก จะขยายตัวถึง 17.13% และการนำเข้า มีมูลค่า 107,141.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.52% เกินดุลการค้ามูลค่า 1,494.10 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวนั้น มาจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัว โดยคู่ค้าสำคัญที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ที่ร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด และช่วยกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคได้ทันท่วงที และมีแผนการทำงานในเชิงรุกที่มีเป้าหมายชัดเจน จึงทำให้ตัวเลขการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

แผนการขับเคลื่อนการส่งออกในระยะต่อไป ยังคงทำงานร่วมกันภายใต้ กรอ.พาณิชย์ ได้แก่ 1.การเร่งรัดเปิดตลาดใหม่ เช่น ในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากรัสเซีย กลุ่มประเทศเอเชียใต้ และกลุ่มประเทศในแอฟริกา เป็นต้น 2.การเร่งรัดการค้าชายแดน โดยจะเร่งเปิดด่านให้ครบทั้งมีอยู่ 97 ด่าน จากปัจจุบันที่เปิดแล้ว 45 ด่าน ในระยะสั้น จะผลักดันเปิดเพิ่มอีก 11 ด่าน และในวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2564 จะเดินทางไปดูด่านชายแดนที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่จะผ่านทะลุเวียดนามไปจีน เช่น ด่านปากแซง ด้านท่าเทียบเรือมุกดาหาร นครพนม และหนองคาย เป็นต้น

Advertisement

3. เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก และหากสามารถดำเนินการในระบบออฟไลน์ได้ ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป เป็นการผสมผสานแบบไฮบริด 4.เร่งทำการลงนามความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่จะทำการค้าแบบเสรีขนาดย่อย (มินิ เอฟทีเอ) กับเมืองเป้าหมาย ได้แก่ เมืองไหหนานของจีน เมืองเตลังกานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลีใต้ และเมืองโคฟุของญี่ปุ่น ขณะนี้มีสัญญาณว่าอาจจะสามารถลงนามกันได้ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 โดยประมาณ และ 5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่ เพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศ โดยจะเร่งปั้นเจนซีเป็นซีอีโอ ซึ่งปีนี้ดำเนินการได้ครบ 12,000 รายแน่นอน

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่ได้เข้าไปแก้ไขแล้วประสบความสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาการส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังเวียดนาม ได้ทำการเจรจากับเวียดนามตั้งแต่การประชุมอาร์เซ็ป โดยปรับกฎ ระเบียบการตรวจ เป็นแบบผ่อนปรนเป็นตรวจที่ใดที่หนึ่ง และสุ่มตรวจ แทนที่การตรวจรถยนต์ทุกล็อต ส่งผลให้ส่งออกรถยนต์เพิ่ม 922% และส่งออกไปไปทั้งโลกเพิ่ม 170% ด้านสินค้าประเภทผลไม้ ได้แก้ไขปัญหาติดขัดที่ด่านชายแดนและข้ามแดน ส่งผลให้ส่งออกเพิ่มถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียน เพิ่ม 95% นอกจากนี้ปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยเจราจากับกระทรวงคมนาคมในการขอผ่อนปรนให้เรือใหญ่มากกว่า 400 เมตรสามารถเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้การส่งออก ซึ่งขณะนี้มีผล 2 ปี และมีแผนจะขอให้ทำการอนุญาตตลอดไป เพราะการส่งออกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียง 2 ปี แล้วจะเลิก

ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4% น่าจะทำได้ดีกว่านี้ และยังไม่มีการปรับเป้าหมาย ส่วนตัวเลขการส่งออกของปีนี้จะไปถึง เลข 2 หลักหรือไม่นั้น ในขณะนี้ตัวเลขของ 5 เดือนแรกทำได้แล้ว 10.78% ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูง ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มจากนี้ไป การส่งออกยังถือว่าเป็นหัวจักรสำคัญ ที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ได้อยู่ ยกเว้นมีวิกฤตอะไรมากระทบมาก ส่งผลกระทบไปทั้งโลก ที่นอกเหนือการคาดการณ์ โดยจะพยายามทำให้ดีที่สุด และจับมือเอกชนทำงานใกล้ชิด ทั้งการแก้ไขปัญหาส่งออกและกิจกรรมส่งออก

Advertisement

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยการส่งออกไปสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่อง 44.9% , 25.5% และ 27.4% ตามลำดับ ตลาดสหภาพยุโรป เพิ่ม 54.9% และ กลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่ม 46.8% ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาเพิ่ม 51% ซึ่งการส่งออกของไทยเติบโตดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย ทั้งจีน เวียดนาม สิงคโปร์ และไต้หวัน ส่วนสินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ก็ขยายตัวเกือบทุกตัว ยกเว้นอัญมณีและเครื่องประดับตัวเดียวที่ลดลง เนื่องจากทองคำหดตัว แต่ถ้าหักทองคำออก ก็จะบวกถึง 113%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image