มุมมองนักธุรกิจ-แซนด์บ็อกซ์นำร่อง เปิด ปท.120 วัน เป้าหมายเศรษฐกิจที่ท้าทาย

มุมมองนักธุรกิจ-แซนด์บ็อกซ์นำร่อง เปิด ปท.120 วัน เป้าหมายเศรษฐกิจที่ท้าทาย

เดินทางเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2564 ด้วยความสะบักสะบอม หลังจากครึ่งปีแรกใช้เวลาไปกับการควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ตามมาด้วยระลอก 3 แบบติดๆ ซึ่งเริ่มต้นระบาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผ่านคลัสเตอร์สถานบันเทิง จนทำให้เชื้อไวรัสกระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ใช้เวลากว่า 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในช่วงใด เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลัก 3,000-4,000 คนต่อวัน และผู้เสียชีวิตแตะระดับ 50 คนต่อวันแล้ว

⦁โควิดกระพือความรุนแรง
การระบาดโควิด-19 กระจุกตัวหนักในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยเฉพาะคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงาน และตลาดสด รวมถึงจังหวัดที่มีชายแดนติดเพื่อนบ้านต่างๆ ล่าสุด ณ วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

รวมถึงยังมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติม ได้แก่ 1.ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว สําหรับคนงานทั้งภายในและภายนอก สถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน 2.ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้านเท่านั้น 3.ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดําเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. งดการจัดกิจกรรมในพื้นที่ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ งดนั่งรับประทานในศูนย์อาหาร 4.งดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และ 5.ตั้งจุดตรวจเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมถึงกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน อย่างน้อย 30 วัน ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่า “ไม่ได้ล็อกดาวน์”
แม้จะมีประกาศและข้อปฏิบัติเหล่านี้ออกมา

⦁ปักธงเปิดประเทศทวนกระแส
ก่อนหน้าที่จะเห็นประกาศควบคุมดังกล่าวออกมานั้น ในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศเป้าหมายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วประเทศ ภายใน 120 วัน ซึ่งสร้างความคาดหวังให้กับผู้ประกอบการสูงมาก แต่ผ่านมาเพียงสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้นก็เห็นสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สวนทางกับเป้าหมายที่ผู้นำประเทศปักธงไว้

Advertisement

การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มต้นนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ผ่านโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แม้สถานการณ์การระบาดโควิดในภาพรวมประเทศไทยยังรุนแรงอยู่ แต่หากประเมินเป็นรายจังหวัดพบว่ายังมีอีกหลายจังหวัดที่ปลอดภัยจากเชื้อโควิดแล้ว หนึ่งในนั้นคือภูเก็ต เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในหลักหน่วยเท่านั้น และบางวันก็ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมด้วย

⦁เอกชนรวมพลังสะท้อนเสียง
วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ใกล้จะเริ่มต้นนี้ ภาคเอกชนเตรียมตัวมามากกว่า 6 เดือนแล้ว รวมถึงภาครัฐที่ทำงานร่วมกันมาตลอด โดยประเมินในไตรมาส 3/2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 1 แสนคน ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินไว้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก เพราะหากควบคุมได้ดี ไม่เห็นการระบาดกลับมากระเพื่อมอีกระลอก จะสามารถเป็นต้นแบบให้จังหวัดที่มีความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มขึ้น

“การประกาศเปิดประเทศใน 120 วันของนายกฯ แม้จะยังไม่แน่ใจว่ามีมาตรการอะไรออกมารองรับให้ไปถึงเป้าหมายได้ แต่ถือว่าเป็นการประกาศที่ท้าทาย เพื่อสร้างการรับรู้พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกองคาพยพเพื่อตั้งเป้าหมายเดียวกัน และไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ โดยถามว่าจะเปิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนเป็นหลัก รวมถึงการจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เริ่มต้นง่ายๆ คือ รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อยืนธุรกิจรอการฟื้นตัวให้ได้ก่อน รวมถึงปรับแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้เกิดการลงทุน หรือการแข่งขันทางธุรกิจได้ ซึ่งหากสามารถปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัยได้ จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้เร็วและแข่งขันได้มากขึ้น” วัฒนากล่าว

Advertisement

⦁แนะรัฐวางแผนฉีดวัคซีนชัดๆ
ด้าน ธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า การทดลองนำร่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก่อน เพราะมีการวางแผนร่วมกันมานานแล้ว จึงมีรูปแบบที่ชัดเจน หลังจากนั้นภายในเดือนตุลาคมนี้จะเปิดจังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 10 พื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกฯตั้งเป้าเปิดประเทศรับต่างชาติแบบทั่วประเทศใน 120 วัน โดยตัวชี้ขาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น เป็นการเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะการปูพรมในแต่ละพื้นที่ รัฐบาลจะต้องจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น อาทิ พื้นที่ระบาดหนัก พื้นที่เสี่ยงสูง จะต้องเร่งฉีดก่อน หลังจากนั้นทยอยฉีดในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

“รัฐบาลควรประกาศหลักเกณฑ์ในการจัดสรรวัคซีนให้ชัดเจนมากขึ้น อาทิ เน้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และโรคติดต่อ 7 โรค รวมถึงพื้นที่เสี่ยงสูงก่อน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและลดกระแสการตั้งคำถาม ว่าเหตุใดแต่ละจังหวัดถึงได้รับวัคซีนไม่เท่ากัน โดยจะต้องทำ 3 ข้อหลักคือ 1.ประชาสัมพันธ์ 2.สร้างความเข้าใจ และ 3.สร้างความร่วมมือ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า การเปิดประเทศมีความจำเป็นเพื่อดึงรายได้เข้ามาหมุนเวียนธุรกิจ เกิดการจ้างงานกลับมา และเดินหน้าเศรษฐกิจต่อไปได้” ธวัชชัยกล่าว

⦁ผวาคนงานกลับภูมิลำเนา
เมื่อเกิดการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ๆ มากขึ้น ผลกระทบไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นเพียงอย่างเดียว แต่สร้างความกังวลในระดับจังหวัด ในอีกหลายๆ จังหวัดที่เกี่ยวข้องกันด้วย

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า การปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเพื่อควบคุมการระบาดโควิดนั้น ทำให้แรงงานส่วนใหญ่เลือกเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อตั้งหลักก่อน ซึ่งภาคอีสานถือว่าเป็นตลาดหลัก ที่มีแรงงานเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯมากที่สุด ทำให้หากมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมากก็สร้างความกังวลว่าจะมีการนำเชื้อโควิดกลับมาระบาดที่จังหวัดปลายทางหรือไม่ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลจะต้องวางแผนควบคุมให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเห็นการระบาดระลอกใหม่ที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่กว่าเดิม

ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วันแบบทั่วประเทศนั้น เบื้องต้นเห็นด้วยกับการกำหนดเป้าหมายของนายกฯ เพราะต้องมีไทม์ไลน์ในการเปิดเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการกำหนดแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยหากไม่มีการประกาศอะไรออกมา ก็จะเป็นแนวคิดลอยๆ ไม่มีทิศทางว่าจะต้องเดินหน้าไปทางใด ไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้น

การปักธงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วประเทศใน 120 วัน ถือเป็นความหวังของภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่อยู่ในภาวะวิกฤตมามากกว่า 1 ปี คงต้องติดตามต่อว่า ความหวังครั้งนี้จะนำแสงสว่างคืนมาได้ หรือมอดดับไปพร้อมกับลมหายใจของผู้ประกอบการและประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image