อาคม เผย ครม.ไฟเขียว ขยายเวลามาตรการการเงิน ผ่านแบงก์รัฐ ถึง 31 ธ.ค.64 นี้

อาคม เผย ครม.ไฟเขียว ขยายเวลามาตรการการเงิน ผ่านแบงก์รัฐ ถึง 31 ธ.ค.64 นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดดอกเบี้ย หรือมาตรการขยายเวลาชะระหนี้ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยให้ขยายระเวลาไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564

นายอาคม กล่าวว่า ขณะที่ความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 7.56 ล้านราย วงเงินรวม 3.64 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้ยังมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการอีก จำนวน 3.23 ล้านราย วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย 3.12 ล้านราย วงเงินรวม 1.18 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นภาคธุรกิจ 21,310 ราย วงเงินรวม 87,948 ล้านบาท

นายอาคม กล่าวว่า ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ฟื้นฟูฯ ของ ธปท. วงเงินโครงการ 250,000 ล้านบาท ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินโครงการอีก 209,236 ล้านบาท ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินโครงการ 1 แสนล้านบาท อนุมัติเชื่อไปแล้ว 7 ราย วงเงินรวม 922 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินอีก 99,078 ล้านบาท

นายอาคม กล่าวว่า ขณะที่ตัวเลขหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลรวมทั้งระบบของประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ขยับขึ้นมามาก เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัส ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอให้สถาบันการเงินออกมาตรการดูแลลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย และเพื่อไม่ให้กระทบกับประวัติการชำระสินเชื่อ และการชำระบัตรเครดิตของบุคคล (เครดิตบูโร)

Advertisement

นายอาคม กล่าวว่า ในเรื่องของยกเว้นการตรวจสอบเครดิตบูโรนั้น มีข้อเสนอมาเยอะ คงต้องหารือกับทางบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ ทั้งนี้เรื่องการยกเว้นการตรวจสอบนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วย ในขณะนี้ที่ประชาชนเดือนร้อนกันเยอะ ทางสถาบันการเงินของรัฐการพยายามช่วยเหลือ ซึ่งก็มีมาตรการ มีที่มีเงินของธนาคารออมสินที่ไม่มีการตรวจสอบ แต่ใช้หลักทรัพย์หรือที่ดินแทน เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่อง

นายอาคม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จำนวนที่ปล่อยสินเชื่อล่าสุดเพียง 7 ราย ซึ่งยังน้อย เนื่องจากเงื่อนไขอาจตึงเกินไป ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ของ ธปท. ก็ยังปล่อยสินเชื่อได้ต่อเนื่อง แต่อาจไม่หวือหวา เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมาขอสินเชื่อโดยตรงจากแบงก์รัฐมากกว่า จึงทำให้วงเงินของ ธปท. ปรับลดลงไม่มาก รวมถึงข้อเสนอให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงลง เนื่องจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ต่ำเพียง 0.25% นั้น เรื่องดังกล่าวคงต้องขอให้ไปถามธปท.

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้ออกโครงการช่วยเหลือลูกหนี้มาแล้ว 20 โครงการ เข้าถึงผู้เดือดร้อนไป 2 ล้านราย และตอนนี้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้อีก 1 ล้านราย โดยในส่วนของสินเชื่อบุคลากรทางการศึกษา (หนี้ครู) ขณะนี้ได้เปิดมหกรรมแก้หนี้ครูไปแล้ว ตั้งแต่ 1-30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีครูสมัครเข้ามา 2 หมื่นราย โดยจะพิจารณาช่วยเหลือพักหนี้ให้สูงสุดถึง 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่ง ซึ่งบางส่วนที่ทำการลดดอกเบี้ยให้ถึง 25% และขยายระยะเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 1ปี จนถึงเดือนมิถุนายน 2565

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image