รวบตึง มาตรการช่วยโควิด ระลอกใหม่ 6 แบงก์รัฐ ดอกเบี้ยปีแรกเริ่ม 0.1%-พักหนี้ถึงสิ้นปี

รวมมาตรการ แบงก์รัฐ ช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ยืดเวลาขอสินเชื่อ-พักหนี้ ถึง 31 ธ.ค. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารรัฐแต่ละแห่งต่างออกมาตรการ ช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด 19 ในระลอกใหม่นี้ อาทิ การยืดเวลาขอสินเชื่อ และพักหนี้

-ออมสิน ขยายเวลาขอสินเชื่อไปถึงสิ้นปี 64 พร้อมขยายครอบคลุมหลายธุรกิจ

ธนาคารออมสิน ได้ปรับหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อ เอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ที่มีวงเงินคงเหลือ 6,300 ล้านบาท โดยขยายกลุ่มผู้มีสิทธิ์ ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีประเภทธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย อาทิ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงเรียนเอกชน ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจ สปาและนวดแผนไทย เป็นต้น รวมถึงขยายระยะเวลาขอกู้ออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ สินเชื่อเอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน เป็นสินเชื่อที่ผ่อนปรนที่ให้ผู้กู้ใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการกู้ วงเงินให้กู้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ อัตราดอกเบี้ยในปีแรกเพียง 0.10% ต่อปี ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา ให้กู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลให้กู้ไม่เกิน 50 ล้าน โดยธนาคารผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาให้กู้ โดยไม่ตรวจประวัติเครดิต และไม่วิเคราะห์รายได้ปัจจุบันจากเหตุที่กิจการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด

Advertisement

ส่วนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้ขยายระยะเวลา การขอสินเชื่อไปถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งมีวงเงินเหลือกว่า 3,800 ล้านบาท โดยเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยว สามารถขอกู้ได้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปีนาน 5 ปี

-ธ.ก.ส. ออกสินเชื่อใหม่ 9 หมื่นล้านบาท

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสำหรับโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ธ.โดยออก 2 สินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท เพื่อช่วยฝ่าวิกฤตโควิด-19 และเป็นการสร้างอาชีพ ให้คนในชุมชนเมืองและภาคชนบท โดยระยะเวลาจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 – 31 มีนาคม 2567 ได้แก่

Advertisement

โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ขอกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย โดยกรณีกู้เป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปีเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุนปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4 – 5 อัตราดอกเบี้ย MRR กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย

และ โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน สำหรับ Smart Farmer วงเงิน 60,000 ล้านบาท ใน โดยกรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุน ปีที่ 1-3 อัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR ชำระคืน ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระ ต้นเงิน 3 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย

รวมทั้ง ได้ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อสนัสนุนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ในปีที่ 1 – 2 และมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้กู้ในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี

-บสย. ค้ำประกันแล้ว 1.03 แสนล้านบาท

สำหรับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ผ่านมา ได้อนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 103,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยผู้ประกอบการ 107,000 ราย และยังมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อบรรเทาภาระการผ่อนชำระ สำหรับลูกหนี้ทั่วไป ได้แก่ มาตรการผ่อนชำระน้อยตามความสามารถจริง มาตรการดอกเบี้ยต่ำเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ ชำระค่างวดเงินต้น และ ช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหา โดยลดจำนวนเงินค่างวด พักชำระหนี้ ระยะเวลา 6 เดือน

-เอสเอ็มอี ดี แบงก์ ปล่อยกู้ 7.5 หมื่นล้านบาท

ด้าน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือ เอสเอ็มอี ดี แบงก์ ได้เตรียมวงเงินปล่อยกู้กว่า 75,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆให้วงเงินสูงสุด 15 ล้านบาทต่อรายได้แก่ “สินเชื่อ SMEs D เติมทุน” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท รับ Re-finance ลดต้นทุนธุรกิจ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี “สินเชื่อ SMEs มีสุข” วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนปรับปรุงกิจการ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี และ “สินเชื่อ SMEs ยิ้มได้” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยเติมทุนหมุนเวียน ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการเงินลดภาระหนี้ เช่น โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” และ “รับโอนทรัพย์ ชำระหนี้” กับ “Hair Cut หนี้”เปิดรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการพักชำระหนี้ จนปัจจุบันให้สิทธิ์พักชำระหนี้ไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีลูกค้าเข้ารับมาตรการพักชำระหนี้แล้วแบ่งเป็น ลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประมาณ 42,000 ราย วงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท และลูกค้ากองทุนประชารัฐ ประมาณ 3,300 ราย วงเงินประมาณ 6,400 ล้านบาท

-ธอส.เปิดรับ ลงทะเบียน 6 มาตรการ 1-29 กค.นี้

สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่อยู่ใน 7 มาตรการ ที่ยังคงค้างอยู่จำนวน 137,000 ราย และยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ออกไปอีก 7 เดือน หรือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ อาทิ แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดต้น ตัดดอก) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน

ส่วนมาตรการที่ 12 ขยายระยะเวลาลดเงินงวดผ่อนชำระ และพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลตรายเดิมที่อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร หากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ระลอกใหม่ สามารถเลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระเหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน (ตัดเงินต้นและดอกเบี้ย) หรือ เลือกพักชำระหนี้ และพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติพร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เริ่มเปิดลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม 6 มาตรการผ่าน แอพพลิเคชัน GHB ALL หรือ GHB Buddy ได้ตั้งแต่วันที่ 1-29 กรกฎาคมนี้ 2564 ส่วนมาตรการที่ 12 ลงทะเบียนได้ที่ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายนนี้

-เอ็กซิม แบงก์ ช่วยเหลือผ่าน 5 มาตรการ

ด้าน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิม แบงก์ มีทั้งหมด 5 มาตรการ ได้แก่ 1.พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2.สินเชื่อฟื้นฟู เพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ วงเงินสูงสุด 150 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี 3. สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี กู้สูงสุด 7 ปี 4.สินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี และ5.สินเชื่อส่งออกสุข สุด สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก วงเงินสูงสุด 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image