รองอธิบดีกรมชลฯ นำทีมลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนสร้างการมีส่วนร่วม พัฒนาลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรี

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจันทบุรี นำคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารโครงการ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 6 , 9 สำนักงานชลประทานที่ 9 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนลุ่มน้ำวังโตนด นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เจริญ ปิยะรมย์ ประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด นายเดช จิโนรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง และคณะเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ในการดำเนินโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับหลังดำเนินโครงการฯแล้วเสร็จ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ องค์กรบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง .แก่งหางแมว.จันทบุรี

 รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ต่อจากนี้ ปี 2565 จะดำเนินการสำรวจที่ดินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีคณะกรรมการราคาซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  และเตรียมความพร้อมด้านแบบก่อสร้างโดยจะเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ผ่าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เพื่อเสนอแผนงบประมาณปี 2566  และดำเนินการก่อสร้างประมาณปี 2566-2568

 จากนั้นผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมซึ่งเห็นความสำคัญและสนับสนุนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ได้ฝากข้อห่วงใยกับกรมชลประทานให้พิจารณาดำเนินการ อาทิ เรื่องการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน โครงการปลูกป่าทดแทนพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ การกระจายน้ำให้พื้นที่ตอนบน และเห็นว่าอ่างเก็บน้ำสามารถอยู่กับช้างได้อย่างดี เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทานได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆในการพัฒนาระบบกระจายน้ำลุ่มน้ำวังโตนดโดยการร่วมกันของ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่6, 9 สำนักงานก่อสร้างขนาดกลางที่และสำนักงานชลประทานที่ 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบดำเนินการอย่างเชื่อมโยงกัน

 ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน4 แห่ง ในลุ่มน้ำคลองวังโตนด เก็บกักน้ำรวมกันได้ทั้งสิ้น 309 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรได้ถึง270,000 ไร่  และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว  อำเภอท่าใหม่ และอำเภอนายายอาม นอกจากประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นหลักแล้ว ในช่วงฤดูฝนยังสามารถผันน้ำส่วนเกินด้านท้ายอ่าง ที่ไหลทิ้งทะเลจากคลองวังโตนด  มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์และอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC ( โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) และการผลิตน้ำประปาในจังหวัดชลบุรี ที่จะขาดแคลนน้ำในอีก 10 ปี ข้างหน้า  รวมทั้งตัวเมืองจังหวัดฉะเชิงเทราและอำเภอบางปะกง ที่ประสบปัญหาน้ำเค็มไม่สามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี ได้อีกด้วย

Advertisement

 ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนผู้ใช้น้ำ รวมถึงการลดผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image