ผุดคลัสเตอร์ติดโควิด กระทบธุรกิจตั้งใหม่ พ.ค. วูบ 7% หวังภูเก็ตโมเดล ดันเชื่อมั่นครึ่งปีหลัง

ผุดคลัสเตอร์ติดโควิด กระทบธุรกิจตั้งใหม่ พ.ค. วูบ 7% หวังภูเก็ตโมเดล ดันเชื่อมั่นครึ่งปีหลัง

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวน 5,568 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 21,513.71 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 551 ราย รองลงมา คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 312 ราย และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 181 ราย โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,142 ราย คิดเป็น 74.39% ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนพฤษภาคม มีจำนวน 792 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,322.75 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุดได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 71 ราย รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 50 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 27 ราย โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท 575 ราย คิดเป็น 72.60% ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนพฤษภาคม 2564
จำนวน 799,881 ราย มูลค่าทุน 19.54 ล้านล้านบาท ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 474,490 ราย คิดเป็น 59.32% รวมมูลค่าทุน 0.42 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.14%

“จัดตั้งธุรกิจเดือนพฤษภาคม เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 33% เทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 7% ผลมาจากการระบาดระลอกสามของโควิด-19 กระจายเป็นวงกว้าง และมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 43 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 7% และใกล้เคียงกับช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักปีก่อน ดูรายธุรกิจพบว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 81.40% ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเพิ่ม 1 เท่า ธุรกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า 41% ธุรกิจก่อสร้างทั่วไปเพิ่ม 9% และธุรกิจกิจกรรมการสร้างแม่ข่ายเพิ่ม 47 เท่า” นายทศพลกล่าว

นายทศพลกล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม จากมาตรการการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ที่มีจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อมจากจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนที่เพียงพอ และมาตรการที่รัดกุมในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เช่น จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2564 รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการสินเชื่อ ฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหารของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี น่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น

นายทศพลกล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนพฤษภาคม 2564 มีการอนุญาต 37 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 17 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,218 ล้านบาท ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 12 ราย เงินลงทุน 372 ล้านบาท รองลงมาสหรัฐ 6 ราย เงินลงทุน 18 ล้านบาท และจีน 5 ราย เงินลงทุน 770 ล้านบาท ทำให้ 5 เดือนแรก 2564 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ 217 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 35,433 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image