ส.เอสเอ็มอี-ร้านอาหารเครียด! ผวาโควิดระลอก 4 กวาดรายได้-กดจีดีพีลบหนักกว่าปี 63

ส.เอสเอ็มอี-ร้านอาหารเครียด! ผวาโควิดระลอก 4 กวาดรายได้-กดจีดีพีลบหนักกว่าปี 63

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 กรกฎาคม ทางสมาพันธ์ฯจะเข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเตรียมเสนอแผนปฎิบัตจริงการบริหารล็อกดาวน์ 30 วัน (ช่วงเดือนกรกฎาคม) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากมาตรการรัฐล็อกดาวน์ ที่กระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการก่อสร้าง ร้านอาหาร ร้านบริการ อาชีพอิสระ โดยแยกเป็น 5 ประเด็น คือ 1. ระยะล็อกดาวน์ 14-20 วันแรก รัฐบาลต้องเร่งตรวจหาเชื้อเชิงรุกทุกพื้นที่ คัดแยกส่งรักษาทั้งในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ใกล้เคียง เร่งฉีดวัคซีน ขึ้นทะเบียนกิจการผู้ฉีควัคซีนแล้วเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้ามาให้บริการหลังมาตรการจบลง 2. รัฐสนับสนุนด้านอาหาร ของใช้ ขยายสัญญาทางธุรกรรมที่ทำระหว่างกัน ชดเชยหรือเพิ่มส่วนลดผู้บริการดิลิเวอรี่จากเจ้าของแพลตฟอร์ม 3. รัฐบาลเร่งจ่ายเงินชดเชยนายจ้าง 3 พันบาทต่อลูกจ้าง 1 ราย ลูกจ้างได้รับ 2,000 บาท ถ้าเลิกจ้างได้ชดเชย 50% และกลุ่มไม่ไหวปิดกิจการควรชดเชยค่าเช่าเพราะขาดรายได้ 4. เร่งดำเนินการพักต้นไม่คิดดอกเบี้ย3-6 เดือน ยกเว้นการขึ้นเครดิตบูโรเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ชดเชยค่าน้ำ-ไฟฟรี 1-3 เดือน ซึ่ง 4 ประเด็นแรกเป็นการเร่งทำขณะล็อกดาวน์ 30 วัน ส่วนประเด็นที่ 5 คือ รองรับหลังปลดล็อกดาวน์ คือ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ทำระบบตรวจสอบประเมินผล รัฐเพิ่มทุนผ่านสินเชื่อเพิ่มทุนจากกองทุนประกันสังคม และชดเชยวงเงินส่วนหนึ่งเพื่อจัดแคมเปญกระตุ้นการขายในครึ่งปีหลัง ซึ่งแต่ละรายระยะสั้นควรมีเงินหมุนเวียนรายละ 3-5 หมื่นบาท

ก่อนหน้านี้ที่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนมีการล็อกดาวน์ 30 วัน ก็เน้นเรื่องพักหนี้ไม่มีดอกเบี้ย3-6 เดือน และให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่หลังออกมาตรการมาแล้ว 5 วัน ในทางปฎิบัติยังไม่เห็นความชัดเจนเรื่องการเยียวยา รวมถึงแผนที่รัฐบริหารจัดการด้านต่างๆใน 30 วัน ที่จะเสนอผ่านกระทรวงแรงงานถึงรัฐบาล คือ ควรบูรณการการประชุมและกำหนดแผนบริหารจัดการคู่กันทั้งด้านสาธารณสุขการแพทย์และด้านเศรษฐกิจ ไม่ควรแยกอย่างวันนี้ ประกาศออกมาแต่ปฎิบัติไม่ชัดเจน ทำให้เกิดภาวะช็อกตลาดชะงัก รัฐควรใช้ 30 วันพิสูจน์ฝีมือการดูแลให้เกิดความเชื่อมั่นและเห็นผลจริง ไม่อย่างนั้นประเทศใน 120 วัน เลิกคิดได้เลย

นายแสงชัย กล่าวว่า เอสเอ็มอีกเป็นห่วงการระบาดของโควิดรอบ4 และถ้าการบริหารจัดการของรัฐบาลดูเหมือนยังชิลๆ ธุรกิจจะตายกันเป็นเบือ เอสเอ็มอียังมองว่ารัฐยังช้ากับการใช้งบประมาณ7-8 พันล้านบาท ที่ประกาศให้ความช่วยเหลือ และควรออกมาชี้แจงให้มั่นใจว่าควบคุมและล็อกดาวน์จบแน่ใน 30 วัน ไม่อยากให้ถูกมองว่าบริหารแบบมือใหม่ สำหรับความเสียหายสมาพันธ์กำลังสำรวจอีกรอบ เบื้องต้นประเมินว่าจีดีพีภาคเอสเอ็มอี ที่มีมูลค่า 5.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นสัดส่วน 35% ของจีดีพีประเทศที่มีมูลค่า 15.7 ล้านล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2/2564 จะติดลบเพิ่มจากไตรมาสแรก ที่ติดลบ 2.5% เพิ่มเป็นกว่า 5% ได้จากการระบาดโควิดรอบ 3 และเข้ารอบ 4 อีกทั้งความไม่ชัดเจนการฉีดวัคซีนและการเปิดประเทศได้จริง ก็จะกระทบต่อจีดีพีเอสเอ็มอีทั้งปีปีนี้อาจเหลือประมาณ 4 ล้านล้านบาทเท่านั้น เป็นการติดลบหนักอีกครั้ง

Advertisement

“จีดีพีเอสเอ็มอียังน่าห่วงต่อในไตรมาส3และ 4 ก็จะกระทบต่อจีดีพีประเทศ แม้ 65% เกิดจากธุรกิจรายใหญ่ แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์ เปิดระบาดซ้ำแล้วซ้ำอีก พื้นที่ยังเปิดๆปิดๆ จำนวนผู้ใช้แรงงานติดโควิดเพิ่ม จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิต แม้บอกว่าการส่งออกดีแต่ต้นทางมีปัญหาก็อาจกระทบต่อส่งออกได้ เรายังช่วง 6 เดือนจากนี้รัฐจะเร่งหาวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดให้ประชาชนได้มากเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นความเชื่อมั่นเดียวการฟื้นธุรกิจ และเปิดประเทศได้ปลายปี เพราะวันนี้่ไม่อาจพึ่งพาการลงทุน การบริโภคเอกชน ส่งออกก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าจะเติบโตได้สูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะฐานปีก่อนต่ำด้วย” นายแสงชัย กล่าว

ด้าน นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมฯได้มีโอกาสเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการในถนนข้าวสารและใกล้เคียงประมาณ 1,500 ราย และแนวทางนำร่องย่านถนนข้าวสารเป็นถนนสีขาว ที่สามารถเปิดให้บริการบนมาตรการความปลอดเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งได้รับการยืนยันในเรื่องการจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้ผู้ประกอบการในเร็วๆนี้ โดยผู้ประกอบการเชื่อว่าการเข้าถึงวัคซีนได้เร็วจะเป็นการป้องกันได้อีกทางแม้จะเกิดการระบาดของโควิดรอบ4 หรือไวรัสกลายพันธุ์ เพราะหากล่าช้าจะสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการในกลุ่มร้านอาหารอย่างหนักและกดดันการปิดกิจการเพิ่มจากร้านอาหารในระบบปิดตัวแล้วกว่า 20,000 ราย จากที่ตัวเลขในระบบ 200,000 ราย ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอย่างนี้มาต่อเนื่องแล้ว 4 เดือน

“ผู้ประกอบการกังวลมากต่อการระบาดโควิดระลอก 4 หากรัฐบาลยังไม่อาจควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และควบคุมการแพร่ระบาดได้ล้าช้า จะทำให้ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภาคบริการพังหนักขึ้น อีกทั้งกังวลต่อท่าทีอารมณ์ขันเกินไปของนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่ซีเรียส ทำให้เกิดระแวงและวิพากวิจารณ์ต่ออารมณ์และวุฒิภาวะการเป็นนายกรัฐมมนตรี ซึ่งผู้นำควรมีท่าทีซีเรียสจะเป็นผลจิตวิทยาให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลจริงจัง และควรมีแผนงานที่ชัดเจนกว่านี้ นายกรัฐมนตรีควรให้ทุกหน่งยงานออกมาชี้แจงว่าภายใน 30 วันจะทำอะไรบ้าง ทั้งเรื่องสาธารณสุขดูแลป้องกันไวรัส ตั้งแต่จัดหาวัคซีน กระจายฉีดวัคซีน การจัดหาสถานที่และเตียงรับผู้ป่วย เป็นต้น และทำไปพร้อมกับการดูแลภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจเราวิตกว่าหากเป็นอย่างนี้ ภายในปีนี้เชื่้อว่าการล็อกดาวน์อาจเป็นแบบปิดๆเปิดๆอีกหลายรอบ ความถดถอยของระบบเศรษฐกิจจะย่้ำแย่กว่าปีก่อนได้” นายสง่า กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image