สกู๊ป น.1 : แสงจากส่งออก ปลุกอุตฯฟื้น-ดันศก.โต

สกู๊ป น.1 : แสงจากส่งออก ปลุกอุตฯฟื้น-ดันศก.โต

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังรุนแรง ผู้ติดเชื้อในประเทศวิ่งทะลุครึ่งหมื่นคนต่อวัน เสียชีวิตกว่าครึ่งร้อยคนต่อวัน คือความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศ ที่ทุกฝ่ายต่างคาดหวังให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว

ผลกระทบจากโควิดต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในภาพใหญ่เครื่องยนต์ทุกตัวหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การบริโภค ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศทั้งปี 2564 เหลือ 1.8%

แต่ในความมืดยังพอมีแสงสว่าง จากภาคการส่งออกที่ได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ดันคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตคึกคักตาม

คอฟฟี่เบรก : เพียบ หนึ่งในรัฐมนตรีที่เน้นทำงานเงียบๆ ต้องยกให้กับทั่นสุริยะ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ประเด็นนี้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) ขยายตัวเฉลี่ย 7.97% จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น และจากการที่รัฐบาลออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและบริโภค

Advertisement

ล่าสุดได้รับรายงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. รายงานตัวเลขการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานใหม่ ในปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563- 30 มิถุนายน 2564 มีมากถึง 1,894 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท มีการจ้างงาน 58,765 คน

โดยสิ่งที่สะท้อนการเติบโตภาคการลงทุนที่ชัดเจนคือ มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 62.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้จำนวนโรงงานจะลดลงเล็กน้อย 6.33% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ

ส่วนตัวเลขเลิกประกอบกิจการโรงงาน อยู่ที่ 567 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 29,541.10 ล้านบาท จำนวนโรงงานลดลง 9.72% ส่งผลให้มูลค่าโรงงานที่ปิดโรงงานลดลงไปด้วย 34.61%

Advertisement

“ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 แต่ในภาพรวมของการประกอบกิจการโรงงานยังไปต่อได้ ผมรู้สึกพอใจกับตัวเลขของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งการตั้งโรงงานใหม่ และการขยายโรงงาน เพราะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ผมมั่นใจว่าหากไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย จะส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวช่วงปลายปีนี้ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีฯ สุริยะให้ความเห็น

ด้าน ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากภาคการลงทุนผ่านการตั้งและขยายโรงงาน กรมได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2564 อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ ผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยมาตรการของปีนี้ผ่านความเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงงานกว่า 56,000 โรงงาน จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี

ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมสถานประกอบการของเอสเอ็มอี ให้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยผ่าน พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร โดยมีผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563-1 มิถุนายน 2564 พบว่ามีผู้ประกอบการขอรับการจดทะเบียนเครื่องจักร จำนวน 748 ราย มีเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียน จำนวน 2,454 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าของเครื่องจักรที่จดทะเบียน จำนวน 33,480 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ประกอบการขอจดทะเบียนจำนอง จำนวน 48 ราย เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนอง จำนวน 826 เครื่อง วงเงินจำนอง 168,610 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนอง จำนวน 2,271,124 บาท และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ 605,160 บาท

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสามารถตรวจติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ครบ 100% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันได้ติดตามสถานการณ์และรายงานการตรวจเชิงรุกของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานเขตกรุงเทพมหานคร และเดินหน้าระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (จีพีเอส) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ ยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

รวมทั้ง ได้นำเทคโนโลยีเครื่องมือตรวจวัดมลพิษขั้นสูง เพื่อมาตรวจสอบการระบายมลพิษโรงงานแบบตลอดเวลา พร้อมระบบสื่อสารรายงานผลตรวจวัดแบบปัจจุบันผ่านอินเตอร์เน็ตในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ลดการใช้เจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบ สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ.2564-2573 พร้อมเดินหน้าโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวต่อเนื่อง

“ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายใหม่ๆ อาทิ โควิด-19 การปรับตัวแล้วรอดจึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งกรมพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้ฝ่าคลื่นอุปสรรคนี้ให้ได้ พร้อมผลักดันการลงทุน ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image