เดิมพันแผนฉีดวัคซีนประเทศ-มาตรการรัฐ …กระจายได้ทั่วฟ้า จีดีพีไทยพุ่งติดจรวด!!

เดิมพันแผนฉีดวัคซีนประเทศ-มาตรการรัฐ ...กระจายได้ทั่วฟ้า จีดีพีไทยพุ่งติดจรวด!!

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย ยาวนานและยิ่งรุนแรงจนล่วงเลยมาถึงครึ่งหลังของปี 2564 แล้ว ปัจจุบันยอดติดเชื้อต่อวันทะลุ 6,000 ราย ทำนิวไฮใหม่เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตขึ้นไปสูงสุดหลัก 60 รายต่อวัน พร้อมๆ กับพบคลัสเตอร์ใหม่กระจายตัวทั้งประเทศ

ความอลหม่านดังกล่าว ส่งผลให้รัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจ ออกมาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน และงดการรวมตัวเกิน 20 คน กำหนดให้ 6 จังหวัดเสี่ยงสูงสุด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทันที เมื่อจะหวังพึ่งแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้คนไทย 70% หรือ 100 ล้านโดส ในสิ้นปี ก็ยากจะเชื่อมั่น เพราะปริมาณการฉีดวัคซีนล่าสุดได้เพียง 10%

⦁พาเหรดลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้
ความบอบช้ำของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 ลงเหลือ 1.8% จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดการณ์โต 3.0% รวมทั้งปรับลดจีดีพีของปีหน้า หรือปี 2565 เหลือ 3.9% จากเดิม4.7% ด้วยเหตุผลที่ ธปท.ให้น้ำหนักต่อสถานการณ์โควิดในไทยมีความยืดเยื้อ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศและแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลง ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า

สอดรับมุมมองภาคเอกชน อาทิ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับจีดีพีปีนี้ เหลือ 1.3% จากคาดการณ์เดิมจะโต 1.9% เช่นเดียวกับ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าการระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 และมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.25% หากพิจารณาจีดีพีของปี 2564 มีทิศทางลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.8% ส่วนจะเหลือเท่าไรอยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขอีกครั้ง

Advertisement

⦁คลังรอปรับตัวเลขศก.ปลายก.ค.
ในขณะที่กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประมาณการจีดีพีไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 2.3% ซึ่งปรับลดลงจากประมาณการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 2.8% โดย สศค.ระบุว่า จะมีการปรับอีกครั้งช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้เป็นการปรับประมาณการรอบที่ 3 ของปี ตามรอบของกระทรวงการคลังที่จะปรับในทุกๆ เดือนแรกของไตรมาส

ขุนคลังของรัฐบาล อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า การปรับประมาณการของ ธปท.ว่า ตัวเลขจีดีพีลดลงตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ ส่วนของกระทรวงการคลัง จะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง โดย สศค.จะมีการติดตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคการส่งออกก็ยังดีอยู่ ถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเปิดประเทศได้ภายใน 120 วันตามแผนของนายกรัฐมนตรี กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มกลับมาเป็นปกติ เรื่องการจับจ่ายใช้สอยก็จะดีขึ้น

“สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ตอนนี้รัฐบาลพยายามทำมาตรการการเชิงรุกในการตรวจเชื้อโควิด รวมทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” รัฐมนตรีคลังกล่าวย้ำ

⦁จับตา‘เยียวยา-ฟื้นฟู’ดันจีดีพี
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ตั้งแต่ระลอก 2 เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 และระลอก 3 ในช่วงเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการเราชนะ มีประชาชนได้รับความช่วยเหลือ 33.2 ล้านคน ใช้วงเงินไปกว่า 2.7 แสนล้านบาท รวมทั้งโครงการ ม33เรารักกัน ที่ดำเนินการโดยกระทรวงแรงงาน มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 9.27 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 3.24 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยพยุงให้จีดีพีขยายตัวได้ มากกว่า 1% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการเลยใดๆ กระตุ้นเลย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกแพคเกจมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ใช้งบประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาทิ ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ที่ไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง และไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ใช้งบประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินที่ประชาชนออกอีกครึ่งหนึ่ง ก็จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.86 แสนล้านบาท และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ใช้งบปะมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมและใช้จ่ายตามเป้าหมาย จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2.4 แสนล้านบาท

เมื่อรวมทั้ง 4 มาตรการดังกล่าว คาดว่าจะมีเม็ดเงินทั้งหมดกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยดันจีดีพีของประเทศไทยให้ขยายตัวมากกว่า 1.5% เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีมาตรการใดออกมาเลย และมากกว่านั้นรัฐบาลยังออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อสำรองไว้ช่วยดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงปี 2564-2565 อีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามเร่งผลักดันแผนการส่งออกให้เติบโตทะลุเป้าหมาย 4% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแผนการผลักดันเรื่องการเปิดประเทศที่ตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 120 วัน เริ่มจากการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ซึ่งการเปิดประเทศจะมาพร้อมกับการท่องเที่ยวและการลงทุนที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และมีโอกาสฟื้นตัวภายในปีหน้า ทั้งนี้ ตามเอกสารงบประมาณปี 2565 กรอบจีดีพีของปีหน้าจะอยู่ที่ 3-4%

เวลานี้ความหวังสุดท้าย จึงอยู่ที่การกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ หรืออย่างน้อย 70% ของประชากร เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การระบาด และแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

ได้แต่หวังว่า ทุกแผนของรัฐบาลจะไปได้ด้วยดี เพื่อช่วยให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ ดันจีดีพีให้โงหัวขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ความหวังลมๆ แล้งๆ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image