‘สุพิชาติ’ ร้อง เงื่อนไขสรรหา กสทช. ไม่เอื้อ ใจแป้ว หวั่นกระบวนการล่มไม่เป็นท่า

‘สุพิชาติ’ ร้อง เงื่อนไขสรรหา กสทช. ไม่เอื้อ ใจแป้ว หวั่นกระบวนการล่มไม่เป็นท่า

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญกองทัพบก ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา กสทช.ด้านกฎหมาย ได้ยื่นหนังสือ เรื่อง ข้อสังเกตการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงประธานคณะกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหา กสทช. โดยมีความกังวลและห่วงใยกับการสรรหา กสทช. ในครั้งนี้ ว่า อาจมีปัญหาหลักๆ เกิดขึ้นเช่นเดิม จนทำให้การสรรหา กสทช. ไม่ประสบผลสำเร็จและถูกยกเลิกในที่สุด

และจากข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ​โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 สามารถตีความและวินิจฉัยได้ ดังนี้

  1. คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่ต้องวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ซึ่งตามหลักวิธีพิจารณาทางปกครองแล้ว หากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการออกมาเป็นเช่นไร ก็ต้องให้สิทธิผู้สมัครโต้แย้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาถือว่าเป็นที่สุด

แต่จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าเคยสมัคร กสทช.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาไม่ได้วินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครและประกาศผลอย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้สมัครได้มีโอกาสชี้แจง หรือโต้แย้งได้ แต่เป็นการดำเนินการเป็นการภายในของคณะกรรมการสรรหาเอง และใช้วิธีการสอบถามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในเวลาที่ผู้สมัครเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ เพื่ออ้างว่าได้สอบถามและให้โอกาสโต้แย้งไว้แล้ว จึงเป็นข้อสงสัยที่คุมเครือถึงความไม่เป็นธรรมและมีเจตนาที่ไม่สุจริตหรือไม่ จึงทำให้ผลการคัดเลือก กสทช.ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และยังขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพราะหากมีการวินิจฉัยและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติแล้ว ก็จะทำให้ผู้สมัครมีการตรวจสอบคุณสมบัติซึ่งกันและกัน ผู้สมัครที่ได้รับการวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็จะมีโอกาสได้ชี้แจงและโต้แย้งได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

Advertisement
  1. การวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) นั้น คณะกรรมการสรรหาจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรมกับผู้สมัครทุกราย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นเป็นการบังคับใช้กับบรรดาผู้ที่ประกอบธุรกิจด้านกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งโดยหลักของกฎหมายนั้นจะต้องมุ่งเน้นที่องค์กรหรือนิติบุคคลนั้นๆ ก่อนว่า เป็นองค์กรหรือนิติบุคคลที่มีการประกอบธุรกิจด้านกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ ซึ่งหากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าเป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าวแล้ว หากผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้วย่อมขาดคุณสมบัติทั้งสิ้น และในทางตรงข้ามหากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าองค์กรหรือนิติบุคคลนั้นๆ ไม่ได้เป็นการประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมแล้ว บุคคลที่สมัครเข้ารับการสรรหาดังกล่าวก็ไม่ขาดคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามแต่อย่างใด

ดังนั้น หากการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาที่ผ่านมาเป็นการวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นการภายในแล้ว ข้าพเจ้าก็มีข้อสังเกตว่าน่าจะขัดกับหลักธรรมาภิบาลและเจตนารมณ์ของกฎหมายตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น และยิ่งไปกว่านั้น การมุ่งเน้นและวิเคราะห์เฉพาะตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าองค์กร หรือผู้บริหารระดับสูงสุดเป็นหลัก หรือวินิจฉัยแล้วกลับให้เฉพาะองค์กรหรือนิติบุคคลบางหน่วยงานเข้าข่ายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพียงบางหน่วยงานเท่านั้นทั้งที่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่เข้าข่ายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งแสดงถึงความลักลั่น มีการเลือกปฏิบัติ และมีอคติหรือไม่

  1. ประเด็นสำคัญของมาตรา 7 ข. (12) อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คณะกรรมการสรรหาจะทราบได้ อย่างไรว่าผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการประกอบธุรกิจด้าน กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ดังนั้นในการตรวจสอบคุณสมบัติจึงต้องมีการกำหนดวันที่คณะกรรมการสรรหาจะทำการคัดเลือกผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติเป็น กสทช. เสียก่อนว่าจะเป็นวันใด แล้วจึงนับระยะเวลาย้อนไปหนึ่งปี เพื่อให้การตรวจสอบคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การที่คณะกรรมการสรรหาจะใช้วันอื่นนอกเหนือไปจากวันที่ผู้สมัครได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหานั้น แม้ว่าจะทำให้เกิดความสะดวกและความชัดเจนในการตรวจสอบคุณสมบัติก็ตาม แต่เป็นการกระทำที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะให้การสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย เพราะในกรณีที่มีผู้สมัครที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) อยู่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวดังกล่าว จะทำให้ผู้สมัครดังกล่าวขาดคุณสมบัติอันสืบเนื่องมาจากการกำหนดวันที่ใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จนนำไปสู่การฟ้องร้องตามมา และทำให้กระบวนการสรรหาต้องหยุดชะงักลงเป็นครั้งที่สามได้

ทั้งนี้ การลงมติของวุฒิสภาในครั้งนี้ได้มีการกล่าวไว้ในมาตรา 16 ตามที่มีการแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดเมื่อปี 2564 ดังนี้

มาตรา 16 เมื่อคณะกรรมการสรรหาดำเนินการคัดเลือกได้บุคคลใดแล้ว ให้เสนอรายชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

Advertisement

บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างกับกฎหมายในครั้งที่แล้ว กล่าวคือ กฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้ได้รับเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คำนวณเป็นคะแนนเสียงถึง 126 เสียง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภามาเข้าประชุมจริงจำนวนเท่าใด เช่น อาจมีองค์ประชุม 130 หรือ 150 หรือ 170 หรือ 200 แต่ไม่ว่าองค์ประชุมจะมีจำนวนเท่าใด ก็ต้องใช้คะแนนเสียงถึง 126 เสียง เท่าเดิม ดังนั้น หากผู้ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหากลายเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ก็เป็นเรื่องง่ายที่ผู้ได้รับเลือกรายนั้นจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ทำให้กระบวนการสรรหาต้องล้มอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image