สรท.มั่นใจ ส่งออกปี 64 เกินเป้า มีโอกาสขายตัวถึง 10% วอนรัฐเร่งกระจายวัคซีน ทางออกฟื้น ศก.

สรท. มั่นใจ ส่งออกปี 64 เกินเป้า มีโอกาสขายตัวถึง 10% วิงวอนภาครัฐเร่งกระจายวัคซีน ชี้เป็นทางออกเดียวฟื้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 41.59% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 714,885 ล้านบาท ขยายตัว 36.22% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 63.54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 14,967 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,279,410 ล้านบาท ขยายตัว 7.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 107,141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 3,280,010 ล้านบาทขยายตัว 18.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุล 600 ล้านบาท

สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตได้มากกว่า 7% โดยเฉลี่ยการส่งออกหลังจากนี้อยู่ที่ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน และมีโอกาสเติบโตถึง 10% หรือมูลค่าการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 254,583 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกเฉลี่ยหลังจากนี้อยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน พร้อมกันนี้หากต้องการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 15% หลังจากนี้การส่งออกจะต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตได้ อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคาดหวังการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยให้การส่งออกเติบโต

สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว ได้แก่ 1.การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ 2.ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า และ 3.ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ด้านปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อการส่งออก คือ 1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศที่มีรุนแรง ส่งผลให้ภาคการผลิตหยุดชะงัก และต้องเลื่อนการส่งมอบสินค้าไปยังประเทศปลายทาง 2.การขาดแคลนแรงงาน เนื่องมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการแรงงานมากขึ้น รวมทั้งปัญหาโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรงในกลุ่มแรงงาน 3.ปริมาณปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอและมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีทรงตัวในระดับสูง ปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และ 4.ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางที่อยู่ในระดับสูง

ส่วนข้อเสนอแนะจาก สรท. คือ วิงวอนขอให้ภาครัฐดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานในภาคการผลิตให้เร็วที่สุด เพราะวัคซีนป้องกันการระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องมืออย่างเดียวที่จะช่วยเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัวได้ ซึ่งทาง สรท.เตรียมเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอเรื่องการเร่งกระจายวัคซีนให้แรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และเรื่องการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเร่งจัดหาแรงงานให้ได้ 2 แสนคนด้วย

“สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี 2564 ของ สรท.นั้น ยังคงยึดที่ 7% คือส่วนที่เข้าไปอยู่ในกระเป๋าแน่นอน ดูจากภาพรวมการส่งออกใน 6 เดือนแรกของ ปี2564 ที่เติบโตที่ 10 % กับครึ่งปีหลังของปี 2563 ถ้าบวกเข้าไปก็จะเป็น 7% แล้ว ดังนั้น สรท.จึงมั่นใจ การส่งออกจะโตได้เกิน 7% แน่นอน และเรามีเป้าหมายในการทำงานที่จะขยายการส่งออกให้ถึง 10% โดยมั่นใจว่าการส่งออกของไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ ดังนั้น สมาชิกและกรรมการของ สรท. จึงมั่นใจว่าถ้าสามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวไปทั้ง 4 ข้อได้ เป้าหมายการส่งออกจะบรรลุที่มากกว่า 10%” นายชัยชาญกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image