‘ตลท.’ รับต้นทุนภาษีหุ้นไทยถูกกระทบแน่ หากรัฐเล็งเก็บภาษีนักลงทุนรายย่อยจริง

‘ตลท.’ รับต้นทุนภาษีหุ้นไทยถูกกระทบแน่ หากรัฐเล็งเก็บภาษีนักลงทุนรายย่อยจริง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ในการเก็บภาษีซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนรายย่อย ที่ถูกผ่อนผันให้ 0.11% สำหรับผู้ลงทุนที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือนนั้น เบื้องต้นมองว่า ยังต้องติดตามว่าความคืบหน้าของนโยบายเรื่องดังกล่าวจะออกมาอย่างไร เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ออกมา แต่ประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย จะทำให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นแน่นอน ซึ่งส่วนนี้ได้ให้ข้อมูลกับผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ เนื่องจากตลท.ไม่สามารถบอกได้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่รู้ว่าการศึกษาแนวทางดังกล่าวนั้น มีการพิจารณาในเรื่องใดอย่างไรบ้าง แต่ในต่างประเทศก็มีการจัดเก็บภาษีของตลาดทุนอยู่หลายประเภท ซึ่งเชื่อว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ขึ้นอยู่กับสภาวะและสถานการณ์ของประเทศเหล่านั้นเป็นหลัก

นายภากร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวต่อเนื่อง เชื่อว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย มีการปรับตัวไปแล้ว รวมถีงมีแผนรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ อยู่แล้ว จึงแนะนำให้เเน้นพิจารณาบริษัทเหล่านี้ก่อน โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง SET และ mai เพื่อระดมทุน หรือการเสนอขายหุ้นเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เฉลี่ย 40-50 บริษัท และมีความหลากหลายของแต่ละธุรกิจ ซึ่งคาดว่าปีนี้จำนวนบริษัทจะอยู่ระดับเดียวกับปี 2563 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) ประมาณ 555,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรก อยู่ที่ 341,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ส่วนที่เหลือนั้นคาดว่าจะเข้ามาในครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2564 ที่จะเข้ามามากที่สุด

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปิดที่ระดับ 1,587.79 จุด ปรับลดลง 0.4% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรวมต่อวัน อยู่ที่ 97,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยใน 6 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากพิจารณาในช่วง 6 เดือนของแรกปี 2564 พบว่า ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าภาพรวม ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์บางกลุ่มที่สูงกว่าผลการดำเนินงานในอดีตค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลพื้นฐานเป็นรายหลักทรัพย์และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

นายศรพล กล่าวว่า ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยในเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,947 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 77,817 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 111,278 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน mai 1 บริษัท โดยใน 6 เดือนแรกปี 2564 ตลาด SET มีมูลค่าระดมทุน (ไอพีโอ) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียนด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image