เซ็นจูรี่ ชี้ “โควิดระลอก3” ฉุดธุรกิจอสังหาฯถึงขั้นวิกฤติ เหตุกำลังซื้อวูบ แนะผู้ประกอบการปรับตัวลดเสี่ยงคาด ซึมยาว3ปี

 

ซีอีโอเซ็นจูรี่ 21 เผยโควิดระบาดรุนแรงในระลอกที่ 3 กระทบอสังหาฯถึงขั้นวิกฤติ จากกำลังซื้อที่ลดวูบทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้จะเริ่มคิกออฟเปิดประเทศแต่ยังไม่ช่วยอะไร ขณะที่ซัพพลายยังเหลือล้น ชี้ภาคอสังหาฯต้องรับความจริง ปรับตัวลดความเสี่ยงลงทุนรับตลาดซึมยาวไม่น้อยกว่า 2-3 ปี

นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างน่าเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะ 1-2 ปี หรืออาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานถึง 3 ปี หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้คลี่คลายไปได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% จากประมาณการเดิมในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3% ขณะที่ทุกสำนักก็ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงต่ำกว่า 2% เช่นเดียวกัน แม้ว่าภาคส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น แต่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาครัฐแม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ยังถือว่าล่าช้ากว่าที่คาดหวังไว้

Advertisement

“แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน และเริ่มต้นโครงการนำร่อง Phuket Sandbox ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา เพราะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ทั้งจากยุโรปและตะวันออกกลางยังไม่กล้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันทางการจีนยังมี มาตรการห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศโดยวิธีการไม่ต่อพาสปอร์ต ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และยังไม่ชัดเจนว่าจะผ่อนคลายเมื่อไร ในขณะเดียวกันยุโรปเองก็มีหลายประเทศที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องของสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้มองภาพรวมของประเทศมากกว่าแค่ภูเก็ต ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของประเทศเท่านั้น”

Advertisement

 

นายกิติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคการค้าและบริการที่มีรายได้ลดลงมาก ขณะที่กำลังซื้อในกลุ่มอื่นๆ ก็ยังไม่มั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ประกอบกับ หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP ทำให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น  แม้ว่าหลายบริษัทจะประกาศตัวเลขยอดขายที่ดี แต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน ทำให้รายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกัน สินค้าคงเหลือที่ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยพร้อมโอน และที่อยู่อาศัยระหว่างการก่อสร้าง ยังมีเหลืออยู่จำนวนมาก แม้ว่าผู้ประกอบการจะชะลอการลงทุนใหม่ลงไปบ้างแล้วก็ตาม ประกอบกับราคาที่ดินยังไม่ปรับตัวลดลง เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของแลนด์ลอร์ดที่ไม่จำเป็นต้องรีบขายถ้าไม่ได้ราคาที่ต้องการ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถหาที่ดินเพื่อพัฒนาสินค้าที่สอดรับกับกำลังซื้อที่ลดลงได้ แม้ว่าในตลาดยังมีความต้องการซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภคอยู่

ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบแม้ว่าจะมีความต้องการซื้อที่เป็น Real Demand อยู่ แต่ก็มีอยู่อย่างจำกัดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่กล่าวมากข้างต้น นอกจากนี้  ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ปรับกลยุทธ์ลงทุนในโครงการแนวราบมากขึ้น ตลาดจึงมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ยอดขายจึงอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมถือเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะกำลังซื้อหลักๆ ในตลาดนี้แทบไม่มีเหลือทั้งในส่วนของกำลังซื้อจากต่างชาติ และนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวในประเทศ ขณะที่ยังมีสินค้าเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก

“ต้องยอมรับความจริงกันว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง ทุกบริษัทต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงตรงนี้ แม้หลายบริษัทจะประกาศตัวเลขการขายที่ดี แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะโอนเป็นรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเวลานี้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยกู้อย่างมาก หากผู้ประกอบการลงทุนและดำเนินธุรกิจตามความเป็นจริงของตลาด เชื่อว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆ ผ่านพ้นจากวิกฤติไปได้ แม้จะมีรายได้ที่ลดลง และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้นก็ตาม”

นายกิติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนที่ดินค่าก่อสร้างรวมถึงวัสดุก่อสร้างเหล็กและอื่นๆ ที่ปรับขึ้นราคา สิ่งเหล่านี้ยังพอที่จะแก้ปัญหาได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถแก้ได้เลยคือ Demand ที่น้อยลงหรือลดต่ำลงจนแทบจะไม่มีเลย รวมถึงโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ได้ส่งผลให้มีการประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 30 วัน ทำให้การก่อสร้างล่าช้าและเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา

“การสั่งปิดแคมป์คนงาน 30 วัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ระยะเวลาในการปิดแคมป์อาจจะนานมากกว่านั้น ทำให้อาจขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว หากต้องส่งแรงงานเหล่านี้กลับ อาจจะนำไปสู่ปัญหาในเรื่องของการก่อสร้างที่ล่าช้า ทำให้การส่งมอบงานให้กับผู้พัฒนาโครงการและลูกค้าล่าช้าตามไปด้วย  ขณะที่การรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในหลายบริษัทน่าจะเกิดปัญหาอย่างเห็นได้ชัดเจนเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องไปในไตรมาส 3-4 ของปีนี้อย่างแน่นอน” นายกิติศักดิ์กล่าวในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image