‘ซีไอเอ็มบี’ ย้ำไทยไม่พร้อมใช้ล็อกดาวน์ หวั่นทำจีดีพีวูบ 1% เหตุรัฐออกมาตรการอุ้มช้า-ไม่ตรงจุด

‘ซีไอเอ็มบี’ ย้ำไทยไม่พร้อมใช้ล็อกดาวน์ หวั่นทำจีดีพีวูบ 1% เหตุรัฐออกมาตรการอุ้มช้า-ไม่ตรงจุด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และสถานการณ์ลากยาวกว่าที่คาดไว้ บวกกับการฉีดวัคซีนล่าช่า หรือวัคซีนยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ รวมถึงมีไวรัสกลายพันธุ์ ที่เชื้อหลุดเข้ามา ส่งผลให้การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำนักวิจัยฯ จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตลดลงเหลือ 1.3% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 1.9% ส่วนปี 2565 คาดว่าจะโตได้ที่ 4.2% ลดลงจากเดิม 5.1% ยิ่งกว่านั้น เมื่อเกิดการระบาดรุนแรงขึ้น หากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนเดือนเมษายน 2563 เชื่อว่าจะทำให้การบริโภคชะลอตัวอย่างชัดเจน และกดดันให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้โตต่ำกว่า 1% ได้ แม้เชื่อว่าจะไม่ติดลบก็ตาม

“หากรัฐประกาศล็อกดาวน์แบบ 100% เหมือนเดือนเมษายน 2563 ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะการบริโภคในประเทศชะลอตัวแรง มีการปิดธุรกิจหลายประเภท และการจำกัดการเดินทาง ทำให้หากใช้มาตรการดังกล่าว จะสร้างผลกระทบไม่แตกต่างกันแน่นอน โดยเฉพาะในภาคบริการ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม ค้าปลีกต่างๆ แต่ในภาวะเศรษฐกิจ อาจไม่ได้ลดลงแรงเท่ากับที่ผ่านมา เพราะมีภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกช่วยประคองไว้ได้ แต่หากรัฐใช้มาตรการควบคุมเข้มข้นสูงสุดเฉพาะในพื้นที่สีแดง อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจกระทบกับการจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป รวมถึงผลกระทบมีลึกกว่าที่คาดไว้ โดยหากรัฐบาลมองว่าควรล็อกดาวน์เพื่อให้เจ็บแล้วจบ แต่หากรอบนี้เจ็บแล้วไม่จบ และรอบนี้เป็นการเจ็บแบบทนไม่ได้แล้ว เพราะสายป่านหรือสภาพคล่องของบางธุรกิจอาจมีไม่ยาวมากนัก จึงต้องพยายามหาสภาพคล่องมาช่วยธุรกิจเหล่านี้ก่อน” นายอมรเทพกล่าว

นายอมรเทพกล่าวว่า ประเทศไทยไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกแล้ว เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลค่อนข้างล่าช้า และไม่ตรงจุด สะท้อนจากช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอันนี้ถือเป็นจุดอ่อนทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการล็อกดาวน์ได้ จึงต้องรักษาความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสาธารณสุข บวกกับการล็อกดาวน์อีกรอบ อาจทำให้รัฐต้องกู้เงินเพิ่มรอบใหม่อีกครั้งได้ โดยหากเกิดใช้ล็อกดาวน์ขึ้นมาจริงๆ ผลกระทบจะให้คนขาดรายได้ และการบริโภคในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลง สิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำคือ หาทางช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเดินหน้าต่อ อาทิ มีการชดเชยจากภาครัฐ การเติมสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก โดยหากประเมินการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ พบว่า ยังดำเนินการได้ช้ามาก จึงต้องเร่งให้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ทำได้เร็วกว่านี้

“โควิดรอบ 3 นี้ ยังเชื่อว่าจะไม่รุนแรงมากเท่าการระบาดรอบแรก ปี 2563 เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ภาคการส่งออกยังสามารถเดินหน้าไปได้ โดยเฉพาะในบางประเทศที่เห็นการฟื้นตัวกลับมาเติบโต 10-20% ทำให้ภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ยังสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อได้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม หรือโรงงานต่างๆ ที่ผลิตวัตถุดิบสำคัญๆ ยังไม่ปิดตัว และสามารถผลิตต่อได้ รวมทั้งกลุ่มอาหารหรือกลุ่มใช้แรงงานเข้มข้น อาจถูกกระทบบ้าง แต่ไม่ได้กระทบทั้งหมด ทำให้ต้องติดตามว่า ภาคการผลิตอาจสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคการบริโภค เพราะเน้นสัดส่วนการส่งออกที่สามารถทำได้ดี แต่ต้องเน้นประเมินสถานการณ์กลุ่มแรงงานว่าอยู่กลุ่มใด มีผลกระทบอย่างไรบ้าง” นายอมรเทพกล่าว

Advertisement

นายอมรเทพกล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลักๆ คือ มาตรการของภาครัฐ โดยต้องยอมรับว่าปี 2563 เหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวแรง หรือกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ และการบริโภคเร่งตัวขึ้นได้ เป็นเพราะมีมาตรการของภาครัฐ ที่ออกมาช่วยประคองและชดเชยรายได้ที่หายไป หลังจากปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินจากภาครัฐใส่ในระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ อาจต้องรอให้สามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้ได้ก่อน แต่อย่างน้อยอาจมีการชดเชยรายได้ให้กับประชาชนที่ขาดรายได้ออกมาก่อน โดยยืนยันว่าภาครัฐถังไม่แตกแน่นอน แม้หลายคนจะกังวลเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐ ว่ามีเงินเหลือมากน้อยเท่าใด และใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งต้องบอกว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ ยังสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อยู่ ส่วนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล อาจมีชะลอตัวบ้างในช่วงไตรมาส 3 แต่คาดว่าไตรมาส 4 นี้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นได้ และสถานการณ์คลี่คลาย หลังมีมาตรการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ที่คาดว่าจะได้เห็นในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

นายอมรเทพกล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ประเมินค่าเงินบาทในไตรมาส 3/2564 จะอยู่ที่ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและการเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการถอนมาตรการคิวอีของสหรัฐฯในปีนี้ ขณะที่คาดค่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาที่ระดับ 32.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในไตรมาส 4/2564 จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกลับขึ้นมา หลังปัจจจุบันยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ จากรายได้ภาคบริการที่ฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าประเทศ และทำให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image