เคทีซีพาเที่ยว‘สตูล’… รอบ๊ายบายโควิด อีกแหล่งท่องเที่ยวไทยชวนค้นหาเสน่ห์ ธรรมชาติสุดว้าว-ประวัติศาสตร์สุดทึ่ง

เคทีซีพาเที่ยว‘สตูล’... รอบ๊ายบายโควิด อีกแหล่งท่องเที่ยวไทยชวนค้นหาเสน่ห์ ธรรมชาติสุดว้าว-ประวัติศาสตร์สุดทึ่ง

เคทีซีพาเที่ยว‘สตูล’…
รอบ๊ายบายโควิด
อีกแหล่งท่องเที่ยวไทยชวนค้นหาเสน่ห์
ธรรมชาติสุดว้าว-ประวัติศาสตร์สุดทึ่ง

หลังทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในรูปแบบ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเตรียมเปิดอีกหลายจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวตามมา เพื่อเปิดประเทศภายใน 120 วันตามคำประกาศของนายกรัฐมนตรี เรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ช่วยให้หลายอาชีพได้ลืมตาอ้าปากจากคลื่นวิกฤตโควิด-19 นับอย่างไม่เป็นทางการ ระลอก 4 แล้ว

เฉลียงไอเดีย ขอร่วมธีมเปิดประเทศ ชวนไปสัมผัสกับอีกแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสวยงาม สถานที่ที่ได้รับการยกย่องเป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโก

ทริปนี้เกิดขึ้นก่อนจะเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 โดยคณะผู้บริหารของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” นำทีมโดยคุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และทีมงานประชาสัมพันธ์พาคณะสื่อมวลชนไปรับฟังมูฟเมนต์ของเคทีซี ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นและยุคโควิดระบาด ธุรกิจจะไปต่ออย่างไร

Advertisement

พร้อมพาชมแหล่งท่องเที่ยวไทยหลังธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองในช่วงโควิดระบาด ที่จังหวัดสตูล สวยงามไม่เป็นรองแหล่งท่องเที่ยวดังๆ ของชาติใดในโลก แถมยังมีกิจกรรมหลากหลายแนวให้นักท่องเที่ยวสนุกกับการท่องธรรมชาติ

ครั้งนี้ เคทีซี จัดกิจกรรมเป็น 2 กลุ่ม ตามถนัดของไลฟ์สไตล์แต่ละคน เพราะที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่น่าค้นหาอยู่มากมาย เริ่มที่ ถ้ำภูผาเพชร ในเขตรักษาสัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2541 เป็นถ้ำเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก พื้นที่ภายในถ้ำกว้างถึง 50 ไร่ แยกเป็นห้องๆ จำนวนมาก

Advertisement

เคทีซีพาเที่ยว‘สตูล’... รอบ๊ายบายโควิด อีกแหล่งท่องเที่ยวไทยชวนค้นหาเสน่ห์ ธรรมชาติสุดว้าว-ประวัติศาสตร์สุดทึ่ง

ไฮไลต์ของถ้ำแห่งนี้คือ ห้องภูผาเพชร จะพบหินงอกหินย้อยเปล่งประกายเหมือนเพชร และห้องแสงมรกต ที่เกิดจากแสงธรรมชาติตกกระทบกับหินงอก หินย้อยสีเขียว กลายเป็นลานสีมรกตอยู่กลางห้อง

สำหรับคนที่เลือกไปถ้ำภูผาเพชร บอกได้เลยถึงความฟิตของร่างกาย เพราะต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 300 ขั้น ต้องลอดปากทางเข้าถ้ำที่มีความสูงเพียงเมตรกว่าๆ แต่คนที่ไปมาบอกตรงกันว่า “คุ้มเหนื่อย” ได้รูปเซลฟี่สวยๆ หล่อๆ ติดกล้องไว้อวดบนโลกโซเชียล หรือเก็บไว้ชื่นชมส่วนตัว ก็ไม่ผิดกติกา

ส่วนคนที่ฟิตไม่พอ เลือกชิลล์ทางน้ำ นั่งเรือหัวโทงสู่เกาะเขาใหญ่ เป้าหมายคือ ปราสาทหินพันยอด ซึ่งระหว่างทางที่ล่องเรือก่อนถึงเป้าหมาย จะมีเรื่องเล่าจากคนเรือท้องถิ่น ทำหน้าที่ไกด์ด้วย

หยุดเรือกลางน้ำ ฟังเรื่องเล่า “ผาจอหนัง” เป็นแห่งแรก เป็นหน้าผาหินขนาดมหึมา ในอดีตชาวเรือใช้เป็นจุดปักหมุดเดินเรือกลับสู่ชุมชน ด้วยขนาดหน้าผากว้างเหมือนจอฉายหนังขนาดใหญ่ ยามค่ำจะสะท้อนแสงจันทร์ จึงกลายเป็นจุดสังเกตเห็นชัดเจน ล่องเรือต่อไป แวะฟังเรื่องเล่าตามตำนาน “หินตาหินยาย” ด้วยลักษณะกายภาพของผาบางส่วนมองดูคล้ายส่วนสำคัญของร่างกายที่แยกได้ว่า ผาไหนคือหินตา และผาไหนคือหินยาย แต่คนเรือบอกว่าต้องใช้จินตนาการร่วมด้วย ซึ่งผู้เขียนบอกได้เลยว่า “ไม่มีจินตนาการ (ฮา)”

จุดต่อไปที่คณะหยุดพัก เรียกว่า “สันหลังมังกร” สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเซลฟี่ บอกเลยจุดนี้ต้องห้ามพลาด ถือเป็น Unseen จุดหนึ่ง มีสันทรายทอดยาวในทะเล ทำให้ดูเหมือน ทะเลแหวก ความยาวกว่า 4 กิโลเมตร โดยช่วงเวลาที่สวยที่สุด และเป็นที่มาของชื่อคือยามพระอาทิตย์ตก แสงอาทิตย์จะส่องกระทบสันทรายเป็นประกายแวววาวราวกับเกล็ดมังกร

ซึ่งจุดนี้ก็มีเรื่องเล่า “หน้าผาใช้หนี้” เป็นหน้าผาหินปูนสูงชัน ตำนานเล่าว่า เจ้าหนี้ได้ท้าชายหนุ่มที่ติดหนี้ก้อนโต ถ้ากล้ากระโดดหน้าผาแห่งนี้ ก็จะยกหนี้ทั้งหมด ชายหนุ่มรับคำท้ากระโดดลงหน้าผา เป็นโชคดีที่เกิดลมมรสุมพัดไปอีกอ่าวหนึ่งได้อย่างปลอดภัย จึงปลดหนี้ได้สำเร็จ

หลังถ่ายรูปกันทุกมุมแล้ว คณะมุ่งหน้าต่อสู่เป้าหมาย ปราสาทหินพันยอด ที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย มีอายุราว 480 ล้านปีก่อน ยุคออร์โดวิเชียน และยังพอมองเห็นฟอสซิลของนอติลอยด์ดึกดำบรรพ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย เป็น Unseen อีกจุด เกาะหินปูนรูปทรงเหมือนแท่งหินขนาดใหญ่ตระหง่านกลางทะเล มีโพรงคล้ายถ้ำลอด

ซึ่งจุดนี้ ได้เปลี่ยนมานั่งเรือคยัค สัมผัสผิวน้ำและชมปราสาทหินพันยอดแบบใกล้ชิด

จังหวะที่ไปเที่ยว ทางการเพิ่งจะเปิดให้ชมหลังจากยอดของปราสาทซึ่งเป็นหินก้อนขนาดใหญ่หักถล่มลงมา ในวันที่ไปชมยังมีเชือกกั้นบริเวณโดยรอบ สามารถพายเรือคยัคได้แค่จุดหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถพายเข้าไปใกล้ปราสาทได้ เพราะยังไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัย จะเกิดเหตุหินถล่มซ้ำลงมาหรือไม่

จบทริปวันแรก วันรุ่ง เคทีซี แบ่งเป็น 2 คณะเหมือนเคย คณะแรกพาชมวิวผาโต๊ะบูและป่าโกงกาง อีกคณะไปแกะรอยอดีต อ่าวตะโละวาว และฟังตำนานคุกตะรุเตา ซึ่งไม่ว่าใครจะเลือกเส้นทางไหน บอกได้เลยเสียเหงื่อเหมือนกัน

ผู้เขียนเลือกไปฟังตำนานคุกตะรุเตา อยากเห็นภาพจริงจากที่เคยอ่านและชมภาพยนตร์มาแล้ว จะเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ แต่หน้าเสียดาย สถานที่คุมขังอยู่ลึกมากต้องเดินทางด้วยเท้าในป่าทึบเข้าไปอีกหลายกิโลเมตร หัวหน้าศูนย์อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา จึงพาเดินชมพร้อมบรรยายให้ฟังแบบให้เห็นภาพแทน ระยะทางไม่ลึกมากประมาณ 600 เมตร แต่เหนื่อยเอาเรื่อง น้ำดื่มจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพกติดตัว

แม้จะไม่เห็นสภาพคุกตะรุเตาด้วยตาตัวเอง แต่ก็ไม่ผิดหวัง เมื่อได้ฟังจากผู้รู้ที่อยู่อุทยานแห่งนี้มามากกว่า 30 ปี ฟังเพลินได้ทั้งอรรถรสและประวัติศาสตร์ที่บางเรื่องไม่มีจารึกเป็นทางการ

บรรยายเริ่มต้นว่าด้วยเรื่องคำว่า “ตะรุเตา” มาจากภาษามลายู หลายคนเชื่อว่าคำนี้เพี้ยนมาจาก “ตะโระเวลา” แปลว่า เกาะที่มีอ่าวมาก เป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงมาตลอด แต่หลักฐานจริง น่าจะเพี้ยนมาจาก “ตะโระ ไอตาวา” แปลว่า เกาะแห่งน้ำจืด

โครงการจุฬาภรณ์เคยสำรวจเกาะแห่งนี้ พบว่ามีแหล่งน้ำดิบสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาเกาะในประเทศไทย 501 เกาะ ตามแผนที่ทหาร แต่แผนที่กูเกิลแมประบุว่ามีเกาะน้อยใหญ่กว่า 900 เกาะ โดยพื้นที่ทางทะเลเชื่อมต่อถึงเกาะลังกาวีของมาเลเซียซึ่งมีระยะห่างกันแค่ 5 กิโลเมตร แต่หากวัดพื้นที่ตามกฎหมายจะมีระยะห่างกัน 32 กิโลเมตร

สถานที่แห่งนี้ในความทรงจำคือสถานที่คุมขังนักโทษการเมือง

แต่ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า แท้จริงคือกุศโลบายขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในการต่อกรกับประเทศมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม ด้วยการจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ หรือทัณฑสถานเกาะตะรุเตาขึ้น หลังจากไทยต้องยกดินแดง 4 หมื่นกว่าตารางกิโลเมตรให้อังกฤษ!

พื้นที่เกาะตะรุเตามีเส้นแบ่งประเทศระหว่างไทยกับมลายู หรือมาเลเซีย เพียง 1.8 กิโลเมตรเท่านั้น หากไทยตรึงไม่อยู่ มาเลเซียขยับเส้นแบ่งมาไทยเพียง 20 เมตร พื้นที่ประเทศไทยก็จะหายไปอีกทั้งเกาะ วิธีป้องกันพื้นที่ที่ดีที่สุดคือสร้างหน่วยงานรัฐครอบพื้นที่ นั่นคือนิคมฝึกอาชีพ โดยรัฐบาลคณะราษฎร ในรัฐธรรมนูญ 2475 ประกาศ พ.ร.บ.การกักกันผู้ที่มีสันดานเป็นผู้ร้าย กลายเป็นความชอบธรรมของไทยในการจัดตั้ง ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา นั่นเอง!

ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา สร้างขึ้นในปี 2480 รับต้นแบบมาจากคุกอัลคาทราซ (Alcatraz) ของสหรัฐอเมริกา มีภูมิลักษณะเป็นเกาะใหญ่อยู่กลางทะเลลึก รอบๆ เกาะเต็มไปด้วยฉลาม ในคลองมีจระเข้ชุกชุม มีคลื่นลมมรสุมรุนแรง จึงไม่เคยมีนักโทษคดีอุกฉกรรจ์รายใดหลบหนีไปได้ ยกเว้นเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว กลุ่มนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดชกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ พระยาศราภัยพิพัฒน์ พระยาสุรพันธ์เสนี ขุนอัคนีรถการ นายหลุย คีรีวัติ และนายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ สามารถหลบหนีได้ด้วยการติดสินบนผู้คุมซึ่งเคยเป็นลูกน้องเก่า และจ้างเรือชาวบ้านไปยังเกาะลังกาวีพร้อมขอลี้ภัยการเมืองที่นั่น

สถานที่แห่งนี้ยังมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคน เป็นนักคิดนักเขียน เป็นเชื้อพระวงศ์ ต้องโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ จึงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เข้มงวด ไม่ต้องทำงานหนัก และจะแยกส่วนจากนักโทษอื่นๆ ที่ถูกคุมขังที่อ่าวตะโละวาว ส่วนนักโทษการเมืองจะอยู่ที่อ่าวตะโละอุดัง

สอ เศรษฐบุตร เจ้าของพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย หรือหลวงมหาสิทธิโวหาร บรรดาศักดิ์ก่อนต้องโทษ คือ 1 ในกลุ่มนักโทษการเมือง ใช้เวลาต้องโทษ 12 ปี จัดทำพจนานุกรมฯที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

ความน่าสะพรึงกลัวของคุกแห่งนี้ ที่โจษขานถึง นอกจากป้อมปืนกล หัว-ท้าย พร้อมยิงทันทีหากนักโทษคนไหนข้ามเส้น 1 กิโลเมตร จากแนวชายฝั่งทะเลแล้ว ยังมีห้องขังเดี่ยว เรียกว่า “ตึกแดง” มีลักษณะเป็นโดมทรงครึ่งวงกลมสูง 1 เมตร สร้างจากเหล็ก มีประตูเดียว และช่องเล็กๆ ไว้หยอดอาหารและหายใจเท่านั้น

ว่ากันว่ามีนักโทษเพียงคนเดียวที่เคยถูกขังเดี่ยวในตึกแดง ถูกทรมานจากการโดนแดดเผาจนผิวไหม้ในตอนกลางวันและหนาวเย็นจนเข้ากระดูกในตอนค่ำ ที่ขับถ่าย หลับนอนคือที่เดียวกัน สุดท้ายทนทรมานไม่ไหวเสียชีวิตในที่สุด จากนั้นไม่เคยมีใครโดนขังเดี่ยวที่ตึกแดงอีกเลย

เรื่องเล่า “ตะรุเตา” ยังมีรายละเอียดอีกมากที่อาจไม่เคยอ่านหรือได้ยินจากบันทึกเรื่องเล่าต่างๆ แนะนำว่ามาฟังด้วยตัวเองที่ศูนย์อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้ชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามแห่งนี้ด้วย เพราะปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯ มาที่แห่งนี้เมื่อปี 2535 และมีดำริถึงแนวคิดดังกล่าว เพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงความเป็นมานอกเหนือจากเสน่ห์ของธรรมชาติที่สวยงาม

อีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาปักหลักดื่มด่ำกับธรรมชาตินานนับเดือน ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศและท้องถิ่นไม่ใช่น้อยในช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด

ทริปนี้ยังไม่จบ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ทั้งการดำน้ำดูปะการัง หรือแค่ถ่ายรูปกับเกาะแก่งต่างๆ ที่มีวิวธรรมชาติให้เลือกเข้าเฟรม

แต่พื้นที่เฉลียงฯไม่พอบรรยาย..แค่อ่านไม่น่าอิ่มใจ อยากเชิญชวนให้ไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง เห็นด้วยตา สัมผัสด้วยใจ รับรองฟินสุดสุดแน่นอน

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image