‘แอร์เอเชีย’ หยุดบินชั่วคราว หลังศบค.สกัดเดินทางข้ามจว.-หอการค้าฯ-สอท.แนะเร่งเยียวยาเพิ่ม

‘แอร์เอเชีย’ หยุดบินชั่วคราว หลังศบค.สั่งเคอร์ฟิว-สกัดเดินทางข้ามจังหวัด-หอค้าฯ-สอท.แนะเร่งเยียวยาเพิ่ม

วันที่ 10 กรกฎาคม สายการบินแอร์เอเชีย ประกาศหยุดบินเส้นทางในประเทศชั่วคราว ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม หลังศบค.สั่งเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถาน 10 จังหวัดตั้งแต่เวลา 21.00 น.-04.00 น.และสกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ขณะที่ประธานหอการค้าไทยแนะรัฐเร่งเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม สายการบินแอร์เอเชีย แจ้งว่า เพื่อให้ความร่วมมือกับมาตรการรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยแอร์เอเชีย (เที่ยวบิน รหัส FD) มีความจำเป็นต้องระงับการให้บริการเส้นทางภายในประเทศชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10-31 กรกฎาคม 2564 โดยมีแผนกลับมาบินให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป สำหรับผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ จะได้รับการติดต่อโดยตรงจากสายการบินทางเอเอ็มเอส หรืออีเมล์ เพื่อเลือกรับข้อเสนอทางเลือกตามเงื่อนไขที่สายการบินกำหนด

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีที่ ศบค. ยกระดับมาตรการควบคุมสถานการร์โควิด-19 โดยจำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง เริ่มวันที่ 12 กรกฎาคมนั้น เห็นด้วยกับรัฐบาล ที่เยกระดับมาตรการควบคุมเพียงบางพื้นที่เสี่ยงสูง 10 จังหวัด คือกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 จังหวัด รวมทั้งภาคใต้อีก 4 จังหวัด

“แต่หลังการประกาศยกระดับมาตรการนั้น รัฐบาลควรรีบออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในทันที ไม่เช่นนั้น ประชาชนก็จะวิตกกังวล เรื่องปากท้อง กลัวไม่มีข้าวกิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสังคมด้วย โดยรูปแบบก็จะเป็น การชดเชยเยียวยา จากประกันสังคม ให้กับผู้ประกอบการ และลูกจ้าง แม้มาตรการนั้นจะช่วยด้านสาธารณสุขได้ดี แต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นจะกระทบอย่างหนัก ปัญหาภาคสังคมก็จะตามมา ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่เดือดร้อน สามารถดูแลตัวเองได้” นายสนั่นกล่าวและว่า รัฐบาลออกพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก็ควรนำออกมาใช้เลยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้เลยไม่ต้องรอถึงไตรมาสที่ 4

Advertisement

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลัง ศบค. ล็อคดาวน์ 10 จังหวัด ต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดให้ได้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มยิ่งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนและระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพราะเป็นทางรอดและทางเดียวของประเทศที่จะฟื้นเศรษฐกิจ

“การล็อคดาวน์รอบนี้รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่น เพิ่มเวลาการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้รักษาอัตราการจ้างงานไว้ได้ จะทำให้ผลกระทบจากการล็อกดาวน์รอบนี้ไม่รุนแรงมาก”นายสุพันธุ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image