‘เศรษฐา’ คุยนอกทวีต วิเคราะห์ ‘คุ้ม’ หรือ ‘ไม่คุ้ม’ กับ โอลิมปิกครั้งนี้?

‘เศรษฐา’ คุยนอกทวีต วิเคราะห์ ‘คุ้ม’ หรือ ‘ไม่คุ้ม’ กับ โอลิมปิกครั้งนี้?

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Sansiri PLC ว่าด้วยเรื่องของความคุ้มค่าในการจัดกีฬาโอลิมปิก ที่กำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยข้อความระบุว่า 

#คุยนอกทวีต ปลายเดือนนี้ก็จะถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 (21) ที่ญี่ปุ่นแล้ว นับเป็นการจัดโอลิมปิกในช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเดินหน้าจัดหรือยกเลิกก็หนีเสือปะจระเข้ในแง่งบประมาณและต้นทุน

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจของหลักทรัพย์โนมูระที่ญี่ปุ่นบอกว่าถ้าตัดใจยกเลิกไปซะเลยจะส่งให้เศรษฐกิจติดลบจากที่คาดการณ์ไว้กว่า 16,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ยังไม่นับผลกระทบต่อมู้ดการจับจ่ายใช้สอยภาพรวมซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวแค่ร้อยละ 1.7 ในปีนี้ แต่ถ้าเดินหน้าจัดต่อแล้วก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดที่ควบคุมไม่ได้ ผลกระทบและความเสียหายที่ต่อเนื่องตามมาอาจจะร้ายแรงมีมูลค่ามากกว่าการยอมขาดทุนจากการตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันเสียอีก

มหกรรมโอลิมปิกมักมีข้ออ้างเสมอว่าเจ้าภาพที่จัดจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจทวีคูณมากมาย นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการโอลิมปิกและผู้จัดอยากให้ทุกคนเชื่อ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเพราะประวัติศาสตร์การจัดครั้งก่อนๆ มีความน่ากังขาในสายตาของประชาชนเจ้าภาพในระยะหลังๆ

Advertisement

ย้อนกลับไปจะเห็นว่าประเทศผู้จัดได้กำไรครั้งสุดท้ายคือ 1984 ที่นคร ลอส แอนเจลิส ซึ่งนานโขมาแล้ว หรือถ้าจะอ้างว่าการลงทุนโครงสร้างต่างๆ จะส่งผลพลอยได้ระยะยาว แต่ภาพที่เราเห็นก็มักจะขัดแย้ง โดยการลงทุนโครงสร้างที่ไม่ได้ผลตอบแทนอย่างฝันเช่นบราซิล หรือกรีซ ถูกทิ้งร้างไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้จัดมหกรรมโอลิมปิกจะไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยก็คือวัฏจักรของเศรษฐกิจโลกว่าจะขึ้นหรือลง ปกติการเสนอตัวแข่งเป็นเจ้าภาพมีกระบวนการที่ยาวนาน ทำกันล่วงหน้าเกือบ 10 ปีเพื่อให้ผู้ชนะมีเวลาเตรียมการ แต่ 10 ปีมีอะไรเกิดขึ้นได้เยอะในวัฏจักรเศรษฐกิจโลก

ยกตัวอย่างแคนาดาที่จัดแข่งช่วงปี 1976 เสนอตัวเป็นเจ้าภาพและได้รับเลือกตั้งแต่ปลายยุค 60’s ยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเต็มที่ แต่กว่าจะมาถึงแข่งจริงช่วง 70’s คือยุคของเงินเฟ้อสุดๆ กับวิกฤติน้ำมันแถมยังควบคุมต้นทุนการจัดไม่ได้ เกินงบไปกว่า 700% งานนี้ว่ากันว่าเพิ่งปลดหนี้ที่เกิดจากการจัดการแข่งขันครั้งนั้นหมดไปเมื่อปี 2006 หรือ 30 ปีให้หลังเลยทีเดียว

การจัดโอลิมปิกครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็นการจัดอย่างอู้ฟู่ ใช้เงินมหาศาล ผู้จัดครั้งต่อๆ ไปต้องประเมินให้ดีว่าความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้จะมีไหม การทุ่มทรัพยากรแค่ไหนถึงเมคเซนส์ และแผนรับมือถ้าเกิดความจำเป็นต้องยกเลิกหรือไม่เป็นตามแผนทำยังไง

โลกของกีฬามักถูกนำเสนอว่าเต็มไปด้วยสปิริตของการแข่งขัน สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทุกชนชั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ศักดิ์ศรี สปิริตของการแข่งขันแต่เดิมสามารถเอาชนะบริบททางการเมือง สังคม สงครามมาได้หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ถูกเบียดบังด้วยความหวาดกลัวจากวิกฤติของโรคร้ายที่ยังหาทางต่อสู้แบบชนะขาดไม่ได้ ไม่รู้ว่าสปิริตของเกมการแข่งขันจะช่วยยกระดับความรู้สึกของประชาการพลเมืองโลกได้หรือเปล่าต้องรอดูล่ะครับ

เศรษฐา ทวีสิน

#Olympics #Olympics2021 #CEOContent #MadeForLife #MadeForEveryday

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image