กรอ.พาณิชย์ นัดถก 16 ก.ค. หอค้าชงพยุงค่าบาท 33/ดอลล์ ข่าวดีได้จัดสรรวัคซีนอีก 5 แสนโดสฉีด ปชช.

นายสนั่น อังอุบลกุล / แฟ้มภาพ

กรอ.พาณิชย์ นัดถก 16 ก.ค. หอค้าชงพยุงค่าบาท33/ดอลล์ ข่าวดีได้จัดสรรวัคซีนอีก5แสนโดสฉีด ปชช.

วันที่ 15 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ หอการค้าไทย ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นการติดตามและผลักดันการส่งออกร่วมกัน โดยเสนอผ่านกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลเรื่องรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากขึ้นและรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอยู่ระดับ 32-33 บาท/เหรียญสหรัฐ เพื่อไม่ให้สินค้าไทยราคาสินค้าสูงขึ้น พร้อมเร่งให้ช่วยเหลือปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปรับเพิ่มค่าระวางเรือ (freight) ที่สูงขึ้น รวมถึงติดตามประเด็นต้นทุนวัตถุดิบ การจัดการการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว รวมถึงเร่งรัดผลักดันอำนวยความสะดวกของการค้าชายแดน

“หอการค้าไทยจะเสนอกรอ.พาณิชย์เรื่อง เงินกู้ซอฟต์โลนให้ผู้ส่งออก เนื่องจากมีสินค้าเกษตรและอาหารหลายตัว ได้รับผลกระทบจากต้นทุนตู้ขนส่งที่แพง ทำให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องแบกรับสต๊อกสินค้า และเกิดการขาดสภาพคล่อง ซึ่งถ้ามีการจัดวงเงินซอฟต์โลนมาให้จะสามารถช่วยผู้ส่งออกได้ ส่งออกที่เหลือปีนี้ ดูจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น และทิศทางเงินบาทอ่อนลง จะช่วยหนุนความสามารถในการแข่งขันตลาดส่งออก หอการค้าไทยคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะขยายตัว 8-10% โดยครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ 5-10% เพราะบางประเทศเริ่มกลับมาระบาดรอบใหม่ ทำให้ส่งสินค้าไตรมาส 3 หลายสินค้าจะเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัญหาค่าระวางเรือยังสูงรุนแรง ส่งผลต่อสินค้าไปตลาดอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลางยากขึ้น ที่สำคัญตอนนี้ไทยต้องดูแลไม่มีการแพร่ระบาดโควิดในภาคการผลิต ซึ่งการใช้มาตรการเพิ่มความเข้มข้นในพื้นที่สีแดง 10 จังหวัดเป็นเวลา 14 วัน จะช่วยควบคุมโควิดในพื้นที่ฐานผลิตสำคัญ อย่างอาหารทะเลหรือถุงมือยางทางจังหวัดภาคใต้ได้ ประเด็นการระบาดในโรงงาน ต้องใช้แนวทาง bubble & seal เพื่อให้การระบาดไม่ลามต้องเข้มงวดเพื่อไม่ให้หยุดการดำเนินงาน เพราะจะกระทบ ต่อ Supply Chain ไปยังต้นน้ำเช่น เกษตรกร” นายสนั่นกล่าว

นายสนั่นกล่าวต่อว่า การเปิดรับต่างชาติเข้าสมุย เริ่มวันที่ 15 กรกฎาคมนั้น เกาะสมุย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% แล้วในพื้นที่ ทั้งรัฐและเอกชน ก็มีความพร้อม โดยมีนักท่องเที่ยวทำการจอง และวางแผนจะเดินทางมาแล้วจำนวนหนึ่ง ตอนนี้บางส่วนกังวลที่ไทยยังมีการระบาดที่มีตัวเลขสูง แต่ก็จะมี direct flight ตรงไป ที่สมุยเพิ่มทั้ง จาก ภูเก็ต และสิงค์โปร์ ทำให้เชื่อว่าจะมีคนเข้ามาที่ สมุยพลัสโมเดลเพิ่ม ซึ่ง แนวทางการ จำกัดพื้นที่ของสมุยที่ 7 วันแรกอยู่ในโรงแรม เป็นการทดลองโมเดลอีกแบบ ที่ต่างจากภูเก็ต ทำให้สามารถดูว่า ต้องปรับการทำงานแบบไหนถึงสร้างความมั่นใจและคุมการระบาดให้ได้ตามมาตรการทางสาธารณสุข สำหรับแผนที่หอการค้าไทยได้ร่วมกับ ททท. จะขยายผลต่อจากสมุย คือ เกาะพงัน เกาะเต่า กระบี่ พังงา ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพฯ และบุรีรัมย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทั้งนี้ ช่วงแรกของการทดลองเปิดลักษณะ Sandbox ทั้งภูเก็ต และสมุย ก็มีบางส่วนที่ยังขัดข้องเล็กน้อย หรือ ต้องใช้ระบบ manual บ้าง แต่ทุกสิ่งเป็นการปรับให้ได้แนวทางและมาตรการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตก็สามารถควบคุมการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และมียอดการจองห้องพักตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมถึง 30 กันยายน 2564 จำนวน 196,766 คืน สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเมืองภูเก็ตตั้งแต่ 1-14 กรกฎาคม จำนวน 5,473 คน และยอดนักท่องเที่ยวที่จองเข้าภูเก็ตถึงสิ้นเดือนกันยายน 16,700 คน และต่อไป ถ้ามีคนมามากขึ้น ก็สามารถรองรับได้ และสามารถทยอยเปิดประเทศในพื้นที่ต่อไปได้

นายสนั่นกล่าวต่อว่า การติดตามและแก้ปัญหาโควิดนั้น หอการค้าไทย ได้ดำเนินการมาอยู่แล้วทั้งในส่วนของการร่วมกับกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วกรุงเทพ และมีความสามารถในการรองรับการฉีดได้ถึงวันละ 8 หมื่นคน และหอการค้าได้เสนอรัฐเพื่อพิจารณาให้เป็นศูนย์ฉีดสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปด้วย จะช่วยแบ่งเบาภารกิจของโรงพยาบาลต่างๆ ไปได้มาก ซึ่งเร็วๆ นี้จะได้รับการจัดสรรวัคซีนมาอีก 5 แสนโดสพร้อมดำเนินการฉีดได้ทันที นอกจากนี้ หารือ 40 ซีอีโอ ระดมความเห็นเร่งจัดหาและจัดสรรวัคซีนให้เร็วที่สุด รวมถึงวัคซีนทางเลือกมาช่วยเสริม รวมถึงผลักดันชุดตรวจ Rapid Test โดยเสนอให้ประชาชนสามารถหาซื้อและตรวจได้เองที่บ้าน ช่วยให้การคัดกรองผู้ป่วยออกมาได้เร็วและมีประสิทธิภาพ เหมือนในหลายประเทศ พร้อมจัดหาเตียงสำหรับผู้ป่วยเพิ่มเติมและพิจารณามาตรการ Home Isolation และ Community Isolation มาใช้ควบคู่ ซึ่งวันที่ 15 กรกฎาคม หอการค้าไทยได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการเร่งผลักดัน การจัดทำ Digital Vaccine Passport และ e-Visa ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าออกประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image