กรมปศุสัตว์ประสานกรมอุทยาน-ผู้ว่าฯ จัด 6 มาตรการเข้มชายป่ากุยบุรี กันโรคลัมปี สกิน

กรมปศุสัตว์ประสานกรมอุทยาน-ผู้ว่าฯ จัด 6 มาตรการเข้มชายป่ากุยบุรี กันโรคลัมปี สกิน

อธิบดีกรมปศุสัตว์ประสานกรมอุทยาน และผู้ว่าประจวบ ร่วมยกระดับควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน หลังพบกระทิงที่ตายติดเชื้อ เน้นพื้นที่ใกล้ผืนป่า ป้องกันไม่ให้ระบาดสู่สัตว์ป่า เร่งจัดสรรวัคซีน 5 ล้านโดสแล้ว มั่นใจโรคสงบใน 3 เดือนหลังฉีดวัคซีนครอบคลุม

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากที่กรมปศุสัตว์ได้ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการซากกระทิงที่มีผิวหนังมีตุ่มนูน และโดนขวิดตายจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผลพบว่ากระทิงมีการติดเชื้อลัมปี สกิน พร้อมกันนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายขอบรัศมีอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งพบว่ามีโค จำนวน 2,234 ตัว จากเกษตรกรจำนวน 209 มีแสดงอาการป่วย 4 ตัว และได้ประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เร่งด่วนซึ่งมี 6 มาตรการ

“ประกอบด้วย หนึ่ง ระงับการเคลื่อนย้ายโค – กระบือ เข้าและออกในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการประกาศเป็นเขตโรคระบาดชนิดลัมปี สกิน และมีการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทุกพื้นที่แล้ว สอง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะของโรคในพื้นที่เสี่ยงโดยการใช้ยาพ่นฆ่าแมลงในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะและฉีดพ่นบนตัวโค กระบือ เป็นต้น สาม เร่งรัดการทำวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ พื้นที่ 5 กิโลเมตรจากชายขอบอุทยานประมาณ 2,234 ตัว

สี่ ดำเนินการประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรในพื้นที่ หากพบโคแสดงอาการให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยและลดการแพร่เชื้อโรค ห้า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีต้องป้องกันไม่ให้สัตว์ป่า เช่น กระทิง วัวแดง และควายป่า ออกมาหากินในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโค กระบือ รวมทั้งไม่ให้มีการนำโค กระบือเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ที่กระทิงอยู่อาศัยโดยมีระยะแนวกันชนประมาณ 1 กิโลเมตร และหก เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พ่นยาฆ่าแมลงยานพาหนะที่เข้า-ออก เพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำโรค” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว และว่า

Advertisement

“ พร้อมกันนี้ได้ขอให้ยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกันในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศอีกด้วย พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือยกระดับการควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เขตป่า โดยให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดร่วมเฝ้าระวังด้วย”

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดเร่งฉีดวัคซีนให้กับโค-กระบือของเกษตรกรที่เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เขตป่า อุทยานแห่งชาติและและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าฉีดพ่นสารกำจัดแมลงพาหะบริเวณคอกโค-กระบือ เพื่อป้องกันไม่ให้บินไปกัดสัตว์ป่า ได้แก่ กระทิง วัวแดง และควายป่า รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณคอกเลี้ยง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะ พร้อมติดหลอดไฟไล่แมลงหรือร่วมกับการกางมุ้งที่คอกสัตว์ ซึ่งส่งผลดีต่อการป้องกันโรค

“ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้วางแผนจัดสรรวัคซีน 5 ล้านโดส ที่ ครม. อนุมัติงบกลางให้จัดซื้อเพื่อควบคุมโรค โดยแผนกระจายวัคซีนเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างทั่วถึงเป็นธรรม โดยครอบคลุมประชากรโค-กระบือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรสัตว์กลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีโค-กระบือ รวม 10,249,349 ตัว เป็นโคเนื้อ 7,969,519 ตัว โคนม 811,688 ตัว กระบือ 1,568,042 ตัว ซึ่งการฉีด วัคซีนลัมปี สกิน ของกรมปศุสัตว์นั้น ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากเกษตรกรทั้งสิ้น ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดปัจจุบันสถานการณ์พบสัตว์ป่วยใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก มั่นใจว่า เมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย โรคจะสงบได้ภายใน 3 เดือน ส่วนกรณีของการเยียวยาโค-กระบือที่ป่วยตาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เพื่อช่วยเกษตรกรให้มากที่สุด” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวในที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image