อัยการธนกฤตเผยสินมั่นคงอ้างสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ อาจเข้าข่าย พ.ร.บ. ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม

อัยการธนกฤต ผอ.นิติวัชร์อัยการ เผยข้อกฎหมาย สินมั่นคงอ้างสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ อาจเข้าข่าย พรบ. ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบประชาชนเกินสมควร หากไม่จ่าย ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นถึงผลตามกฎหมาย กรณีบริษัทสินมั่นคงอ้างสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด- 19 ความว่า

ตามที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกประกาศแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอ้างข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.4.3 และ ข้อ 2.5.1 ที่ให้บริษัทฯ ใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ นั้น ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ เป็นการส่วนตัว ดังนี้

กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทฯ เป็นข้อตกลงตามสัญญาระหว่างประชาชนผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภคกับบริษัทฯ ผู้รับประกันภัยในฐานะที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ และยังมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่มีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าแล้ว

Advertisement

ซึ่งหากข้อสัญญาใดทำให้บริษัทฯผู้รับประกันภัย ได้เปรียบประชาชนผู้เอาประกันภัยเกินสมควร ให้ถือว่าข้อสัญญานั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

และในกรณีที่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายประชาชนผู้เอาประกันภัยที่มิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรค 1 และวรรค 2

Advertisement

นอกจากนี้ ตามมาตรา 4 วรรค 3 (3) ประกอบกับมาตรา 10 ยังกำหนดให้ข้อตกลงที่ให้สิทธิบริษัทฯ บอกเลิกสัญญาได้โดยฝ่ายประชาชนผู้เอาประกันภัยมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ให้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบประชาชนผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรด้วย เมื่อพิจารณาถึงอำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ของบริษัทฯ รวมทั้งความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ และทางได้เสียทุกอย่างของฝ่ายประชาชนผู้เอาประกันภัยตามสภาพที่เป็นจริง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ ดังกล่าวแล้ว ข้อกำหนดหรือข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.4.3 และ ข้อ 2.5.1 ดังกล่าว ที่ให้บริษัทฯ ใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ จึงไม่น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ และถ้าหากบริษัทฯไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยอ้างสิทธิในการบอกเลิกกรมธรรม์

ประชาชนผู้เอาประกันภัยก็ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม บริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและเรียกร้องให้บริษัทต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรวมทั้งค่าเสียหายให้แก่ตนได้ และคดีนี้ถือเป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งนำเอาพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image