เยียวยาล่าสุด พักหนี้ บ้าน-รถ-บัตรเครดิต
ผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ล่าสุดได้คร่าชีวิตคนไทยวันละหลักร้อย ขณะที่ผู้ป่วยยืนยันทะลุหมื่นคน นำมาซึ่งความกังวลต่อระบบสาธารณสุขที่หลายคนกังวลว่าจะรับมือไม่ไหว
ล่าสุด รัฐบาลส่งสัญญาณควบคุมการแพร่ระบาดทั่วประเทศอย่างเข้มข้น หลังมีการประกาศยกระดับมาตรการการควบคุม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นระดับควบคุมเข้มงวดและสูงสุดในพื้นที่ 10 จังหวัด ยิ่งควบคุมเข้มข้นย่อมต้องแลกกับระบบเศรษฐกิจที่เสียหายทุกกลุ่มก้อน บวกกับปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของคนไทยพุ่งกว่า 90% จึงทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
เริ่มที่กระทรวงการคลัง ออกมาตรการด้านการเงิน โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐดำเนินมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อยเป็นเวลา 2 เดือน
โดยในส่วนของหนี้บ้านที่ประชาชนกังวลใจนั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ออกมาตรการรับนโยบายดังกล่าวแล้ว โดยออกมาตรการที่ 15 และ 16 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนธนาคารอื่นกำลังทยอยออกมาตรการ
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ และสมาคมธนาคารไทย ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลา พักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ โดยการให้ความช่วยเหลือการพักหนี้ 2 เดือน เป็นมาตรการเร่งด่วนและเฉพาะหน้า และเป็นการเลื่อนการชำระหนี้ หากลูกค้ามีความสามารถขอให้ชำระหนี้ตามปกติ เนื่องจากเมื่อหมดระยะเวลาการพักหนี้ ลูกหนี้จะต้องกลับมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยต่อ
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติยังร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสมาคมและชมรมต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ เน้นยกระดับจากมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ระบาดของโรค โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว เพิ่มทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ไม่เป็นเอ็นพีแอล (ค้างชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 ได้อย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง โดยครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
1.บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Revolving & Installment Loan) : เน้นการบรรเทาภาระหนี้กรณีเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาวเกินกว่า 48 งวด โดยให้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราเพดาน (บัตรเครดิต ร้อยละ 12 และสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 22 ต่อปี) ตั้งแต่งวดแรก
2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : มีทางเลือกการพักชำระ ค่างวด ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 22 ต่อปี และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกการ คืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือให้ผู้ให้บริการทางการเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนด
3.เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการควบคุมดอกเบี้ยด้วยอัตรา Effective Interest Rate (EIR) และการคิดดอกเบี้ยสำหรับช่วงที่พักชำระ ค่างวด และสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกการ คืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือให้ผู้ให้บริการทางการเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนด
4.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน : เพิ่มทางเลือกการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถสมัครรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม-31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่แบงก์ชาติกำหนด
นอกจากนี้ แบงก์ชาติสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินมีนโยบายให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ แบงก์ชาติได้คำนึงถึงการดูแลลูกหนี้ที่เดือดร้อนให้ได้รับการช่วยเหลือและได้รับข้อแนะนำในการแก้ไขหนี้อย่างเหมาะสม โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.”มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” เป็นช่องทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและมีจำนวนมากให้ได้รับความช่วยเหลือที่สะดวกรวดเร็วขึ้น มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเวลาถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ลูกหนี้ที่มีหนี้บัตรทุกสถานะยังสามารถเข้ามาใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้บัตร ทั้งนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ คอนเลคเซียส จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์ ฮาร์โมนิช จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ ทวีทรัพย์ จำกัด ได้เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในช่วง 17 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2564 ด้วยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2564 โดยการช่วยเหลืออ้างอิงแนวทางของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 และแนวทางอื่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นแหล่งให้ข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้รายย่อยและธุรกิจ ซึ่งลูกหนี้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและนำไปแก้ไขปัญหา หรือบอกต่อข้อแนะนำแก่ผู้ใกล้ชิดได้ โดยศึกษาข้อมูลได้ทาง www.bot.or.th/app/doctordebt/ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถศึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือได้ที่ผู้ให้บริการทางการเงินของท่านผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ website, mobile application, social media, call center และสาขา สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพ แบงก์ชาติเน้นย้ำว่าขอให้ชำระหนี้ต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคต เนื่องจากการพัก ชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย ส่วนของดอกเบี้ยยังคงเดินต่อเนื่อง ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว ถือเป็นมาตรการพักหนี้ครัวเรือนในภาวะวิกฤตโควิดรอบนี้