ล็อกดาวน์สุมหนี้คนไทยพอกพูน เยียวยา-ปรับโครงสร้างทางรอด!!

ล็อกดาวน์สุมหนี้คนไทยพอกพูน เยียวยา-ปรับโครงสร้างทางรอด!!

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว จนมาถึงระลอก 4 รอบนี้รุนแรงและยาวนาน เพราะต้องเผชิญกับสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) จนรัฐบาลตัดสินใจสั่งปิดกิจการ สั่งงดกิจกรรม ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการแรงงาน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่มีรายได้มาดำรงชีวิต ตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินกันอย่างปฏิเสธไม่ได้

ปัจจุบันภาวะหนี้ครัวเรือนไทยมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 1 ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

⦁ผลสำรวจสะท้อนภาวะหนี้ครัวเรือน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำการเปรียบเทียบผลสำรวจของเดือนมีนาคม 2564 และเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อน-หลังโควิด ระลอกที่ 3 พบว่าสถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงมาก ในผลสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามที่ “มีรายได้ไม่ปกติ” มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.6% เทียบกับรอบที่แล้วอยู่ที่ 56.2% อีกทั้งสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.9% เทียบกับรอบที่แล้วอยู่ที่ 42.8%

มุมมองต่อสถานการณ์หนี้สินของตัวเอง ผลสำรวจพบว่า ลูกหนี้ห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น 79.5% ประเมินว่าปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยสัดส่วนของผู้ที่ “มองว่าปัญหาหนี้จะแย่ลง” เพิ่มขึ้นมาที่ 26.6% เทียบกับรอบที่แล้วอยู่ที่ 7.8% ซึ่งการระบาดระลอกที่ 3 มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของครัวเรือนหลายส่วนให้อ่อนแอและเปราะบางมากขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีภาระหนี้อยู่ในปัจจุบันสนใจที่จะสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินมากขึ้น โดยผู้ที่สนใจมีสัดส่วนประมาณ 62.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยสินเชื่อที่ต้องการรับความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต+สินเชื่อส่วนบุคคล อยู่ที่ 45.3% สินเชื่อเช่าซื้อ 25.3% และสินเชื่อบ้าน 14.3%

Advertisement

⦁แบงก์ชาติออกโรงช่วยเร่งด่วน
การระบาดครั้งนี้ทำให้รัฐบาลได้มีการประกาศ “กึ่งล็อกดาวน์” ใน 10 จังหวัด ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารต่างๆ ได้ออกมาตรการ “พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย” ให้แก่ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ โดยตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้ และเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้วสถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

ทาง ธปท.ระบุเพิ่มเติมว่า การให้ความช่วยเหลือการพักหนี้ 2 เดือนเป็นมาตรการเร่งด่วนและเฉพาะหน้า และเป็นการเลื่อนการชำระหนี้ หากลูกค้ามีความสามารถก็ขอให้ชำระหนี้ เนื่องจากหมดระยะเวลาการพักลูกหนี้จะต้องกลับมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยต่อ ดังนั้น การแก้ปัญหายั่งยืนคือการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการฟื้นฟูรายได้ และเร่งฉีดวัคซีนจะเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้

⦁นักเศรษฐศาสตร์แนะปรับสัดส่วนหนี้
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย แสดงความเห็นว่า มาตรการพักนี้รอบล่าสุดสอดรับกับประกาศกึ่งล็อกดาวน์ เพราะผู้ประกอบการลูกจ้าง ไม่มีรายได้เข้ามา ถ้าไม่มีมาตรการพักหนี้ออกมาอาจจะทำให้เกิดหนี้เสีย หรือติดเครดิตบูโรได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ หรือขอสินเชื่อใหม่ในอนาคต แต่ว่ารอบนี้จะเป็นการดูสถานการณ์และปรับรูปแบบการช่วยเหลืออย่างค่อยเป็นค่อยไป หากสถานการณ์กลับมาดีขึ้นควรดึงลูกหนี้ให้กลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ต้องมีการต่ออายุมาตรการต่อไป

Advertisement

สิ่งที่ต้องดูกันอาจจะไม่ใช่ดูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ คงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่ามีกลุ่มธุรกิจไหนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการเร่งคุยกับลูกค้าที่ไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้อย่างปกติ จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาหนี้เสียในอนาคต การพักหนี้ระยะยาว 6 เดือน ถึง 1 ปีจะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ผิด สำหรับคนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะจะทำให้ไม่มีเงินที่เข้ามาสู่ในสภาพคล่องโดยรวม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการปล่อยสินเชื่อให้กับรายอื่นที่มีความจำเป็นในอนาคต เป็นการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับการลดดอกเบี้ย ถ้าทำได้จะเป็นการช่วยลดภาระหนี้ในอนาคต เพราะเศรษฐกิจโตช้า โดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ย คือการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIFD Fee ซึ่งตอนนี้เก็บอยู่ที่ 0.23%

รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตอนนี้อยู่ที่ 0.5% แต่ก็ต้องมาดูว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนี้แย่ชั่วคราวหรือซึมยาว แต่สิ่งที่ลูกหนี้ต้องการมากกว่าคือการมีสภาพคล่องเพิ่มเติม และการพักชำระหนี้

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยกระจุกอยู่กับคนที่มีรายได้น้อย ภาระหนี้ต่อรายได้ก็อยู่ชนเพดานแล้ว การก่อหนี้ในอนาคตค่อนข้างจำกัด ต้องไปดูว่ามีการผ่อนเกณฑ์ หรือช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่ช่วยแล้วจะเป็นการผลักให้ไปสู่การกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ยาก ต้องพยายามใช้มาตรการทางการคลังเร่งสร้างรายได้ให้กับคนที่มีรายได้น้อย ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหากับเศรษฐกิจในระยะยาว

“เมื่อมาดูองค์ประกอบหนี้ครัวเรือนพบว่า กว่า 35% เป็นหนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งมาเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าค่อนข้างสูง จึงอยากให้มีการแก้ไขให้ไปก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้นแทน เพื่อให้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เพราะที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์ราคาเติบโตต่อเนื่อง” อมรเทพทิ้งท้าย

สุดท้าย รัฐบาลต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูง เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ธุรกิจร้านค้ากลับมาเปิดได้ ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ผู้คนมีเงินมาชำระหนี้ได้ พร้อมทั้งต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั้งด้านการเงินการคลังควบคู่กันไป

เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้บอบช้ำไปมากกว่านี้!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image