ส.อ.ท.จี้รัฐผุดแผนฉีดวัคซีน-ชุดตรวจ ใส่เงินเข้าระบบอีก 1 ล้านล.ช่วยเอสเอ็มอีก่อนสาย

ส.อ.ท.จี้รัฐผุดแผนฉีดวัคซีน-ชุดตรวจ ใส่เงินเข้าระบบอีก 1 ล้านล.ช่วยเอสเอ็มอีก่อนสาย ชี้โควิดรอบ 3 ลามโรงงาน กระทบส่งออกหวั่นหลุดเป้า 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงหลักหมื่นรายและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นว่า สถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลต้องมีแผนด้านสาธารณสุข ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนคุณภาพตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ สกัดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ไม่ใช่เพียงมาตรการเยียวยา แต่จำเป็นต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ คาดว่าจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จนถึงสิ้นปี

“เวลานี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ใช้ทุนที่มีอยู่จนหมดหน้าตักแล้วตั้งแต่การระบาดรอบ 1และ2 ตอนนี้เหมือนปืนไม่มีกระสุน ดังนั้นรัฐต้องเติมเงินเข้าระบบ เหมือนการฉีดวัคซีนให้เศรษฐกิจ ส่วนจะกู้เพิ่มหรือไม่ จะชนเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่ เป็นหน้าที่รัฐต้องพิจารณา เพราะหากช่วยตอนธุรกิจเจ๊งแล้วจะไม่มีประโยชน์อะไร” นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.ประเมินว่าไทยจะคุมโควิด-19ไม่อยู่และอาจยาวไปถึงสิ้นปี เนื่องจากสถิติการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 อยู่ระดับ 120 คน ต่อมาเร่งควบคุมจนวันที่ 30 เมษายน 2563 เหลือติดเชื้อ 7 คน ต่างกับปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อรายวันแตะหลักหมื่นคน ต่างกันมาก ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับคนไทยมีเพียง 13-14% เท่านั้น ประกอบกับแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เดิมเดือนกรกฎาคมจะเข้ามาเดือนละ10ล้านโดสล่าสุดจะเหลือเพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ยิ่งทำให้เห็นว่าโอกาสที่จะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสเป็นไปได้ยากและน่าเป็นห่วงภายใต้การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น

Advertisement

“สิ่งที่น่ากังวลเวลานี้ คือช่วงระบาดรอบ1 และ2 โรงงานรับมือได้ดี แต่รอบ 3 โรงงานเริ่มถูกโจมตีจากโควิดมากขึ้น ทำให้ไลน์การผลิตบางส่วนหยุดชะงัก คำสั่งซื้อต้องชะลอการส่งมอบ หากปล่อยให้ปัญหาบานปลายอาจกระทบต่อภาคการส่งออกปีนี้ที่ภาคเอกชนวางเป้าหมายจะโต 8-10% ดังนั้น ส.อ.ท.จึงตั้งคณะทำงาน 5 ชุดเพื่อขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือสมาชิกเร่งด่วน หนึ่งในนั้นเป็นคณะทำงานจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง เบื้องต้นจะหาสมาชิกดูแลแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง 50,000 ชุด เบื้องต้นกำลังเจรจาบริษัทผู้ผลิตชุดตรวจประมาณ 25 แห่ง” นายเกรียงไกร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image