30 สมาคมทำจดหมายเปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ จี้ 5 เรื่อง ชะลอเอ็นพีแอลพุ่ง หยุด ศก.พัง 1.5 แสนล้านต่อเดือน

ทนไม่ไหว! 30 สมาคมทำจดหมายเปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ จี้ 5 เรื่อง ชะลอเอ็นพีแอลพุ่ง หยุด ศก.พัง 1.5 แสน ล.ต่อเดือน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “มติชน” ว่า ภายในสัปดาห์นี้ สมาพันธ์ฯร่วมกับสมาคมการค้าและธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 30 องค์กร ออกแถลงการณ์และส่งหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล สะท้อนความเดือดร้อนและนำเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อให้ตรงกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

นายแสงชัยกล่าวว่า สมาคมที่เข้าร่วมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับทุกอาชีพ อาทิ ด้านวิชาชีพต่างๆ (นักกฎหมาย นักบัญชี) ภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งทั่วไป ธุรกิจด้านท่องเที่ยว ธุรกิจไอที-ดิจิทัล ธุรกิจสตาร์ตอัพ ธุรกิจอุตสาหกรรมและเกษตรรายย่อย เป็นต้น ที่มีสมาชิกทั่วประเทศหลายแสนราย

นายแสงชัยกล่าวว่า เบื้องต้นจะมี 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1.ขอให้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้และไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งจากธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสถานบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) จากกำหนดให้ 2 เดือน เป็น 6 เดือน หรือถึงสิ้นปี 2564 อย่างน้อย 2.ขอให้ธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงนอนแบงก์ ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี หรือรายย่อยที่ยังประคองธุรกิจได้ไหว 3.เร่งรัดการใช้ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ภายในไตรมาส 3/2564 โดยก่อนออกมาตรการหรือโครงการจากกองทุนฯอยากให้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ อยู่ในคณะกรรมการบริการจัดการกองทุนฯ เพื่อจะได้หารือมาตรการที่จะออกมาใช้ได้ตรงกับสถานการณ์และความต้องการที่แท้จริง

Advertisement

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า 4.เร่งรัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอล เพื่อจัดระบบนิเวศฟื้นฟูและบริหารจัดการทั้งเอสเอ็มอีในและนอกระบบที่เป็นเอ็นพีแอลจากผลกระทบโควิด-19 และผู้ที่มีความตั้งใจจริงที่ต้องการประกอบอาชีพอีกครั้ง และ 5.เร่งแก้ปัญหาลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และฉีดวัคซีนเพื่อให้สามารถปลดล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวได้เร็วที่สุด เนื่องจากตอนนี้เริ่มมีสัญญาณการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่จะขยายรวดเร็วในชุมชน ครอบครัว และองค์กร หากจำนวนผู้ติดเชื้อและพื้นที่ระบาดลุกลามขยายมากขึ้นในแหล่งผลิตและซัพพลายเชน จนต้องชัตดาวน์แค่ 15-30 วัน ก็จะกระทบต่อภาคผลิตและส่งออกในไตรมาส 3/2564 ซึ่งเป็นภาคส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เพราะตอนนี้ไม่อาจพึ่งพาการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวได้มากนัก

“การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตมาก และมากกว่าวิกฤตใดๆ ที่เคยเกิดขึ้น โดยไม่รู้ว่าจะคลี่คลายได้อย่างไร เมื่อไหร่ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือหรือเยียวยาของภาครัฐเป็นเรื่องการบรรเทาชั่วคราว ไม่ได้ห้ามเลือดของเอสเอ็มอีหรือประชาชนอาชีพอิสระพ้นการเป็นกลุ่มหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ซึ่งตอนนี้จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

“และหากพ้นเดือนกรกฎาคม กลุ่มที่ขาดส่งเงินชำระหนี้หรือดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นงวดที่ 3 ก็จะกลายเป็นเอ็นพีแอล แม้รัฐจัดโครงการซอฟต์โลน สำรวจพบว่าประมาณ 70-80% ถูกแบงก์ตีตกไม่อาจเข้าถึงแหล่งกู้เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องได้ ที่เคยสำรวจไว้กลุ่มนี้มีถึง 2 ล้านคนและเพียง 20% เท่านั้นได้ซอฟต์โลน ดังนั้น 2 กองทุนที่เสนอเร่งรัดจะเป็นเครื่องมือที่ทำได้เร็วและทันเหตุการณ์ ที่รัฐบาลสามารถโยกเงินจากงบประมาณและเงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้และซอฟต์โลนที่เหลือกว่า 3 แสนล้านบาท มาใช้ช่วยเหลือได้เลย ภายใน 15-30 วัน” นายแสงชัยกล่าว

Advertisement

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า ในแถลงการณ์ จะขอร้องให้นายกฯรับทราบปัญหาที่แท้จริง และเร่งรัดให้ออกมาตรการที่เอสเอ็มอีเสนอภายในไตรมาส 3/2564 เพราะยิ่งช้าเอสเอ็มอีจะเจ็บตายกันอีกมาก และรัฐต้องหางบประมาณมาเยียวยาอีกมาก แค่ที่จ่าย 2,000-5,000 บาทจากมาตรการก็แค่พยุง แต่หยุดปัญหาไม่ได้ ทำอย่างไรให้ธุรกิจและคนมีอาชีพประคองตัวเองได้

นายแสงชัยกล่าวว่า หากประเมินความเสียหายจากการขยายเวลาล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวใน 13 จังหวัด ซึ่ง 13 จังหวัดมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 9 ล้านล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 7.5 แสนล้านบาท ส่วนนี้หากได้รับผลกระทบ 20% จะเสียหายถึง 1.5 แสนล้านบาท และสัดส่วน 65% เป็นเศรษฐกิจเกิดในกรุงเทพฯ หากรวมกับผลกระทบในต่างจังหวัดทั่วประเทศก็จะเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาทเพียงเดือนเดียว

“เอสเอ็มอีเราไม่ได้คัดค้านเรื่องล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิว เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง เห็นถึงความจำเป็น แต่เราห่วงคือการบริหารจัดการและการออกมาตรการด้านเศรษฐกิจ ไม่ทันท่วงที และแก้ปัญหาไม่ตรงตามที่ประสบกันอยู่ ตอนนี้ไม่แค่ห่วงด้านเศรษฐกิจ แค่เราก็กังวลเรื่องทางการแพทย์ที่มีจำนวนจำกัดและทำงานหนักต่อเนื่องมานาน หากรับมือเรื่องการแพร่ระบาดไม่ไหวจนกระทบต่อสุขภาพ ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ประเทศแย่ลงไปอีก

“ดังนั้น การดูแลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ต้องเร่งออกมาควบคู่กัน การเปลี่ยนแปลงใดๆ เราไม่ได้กังวล เท่ากับควรทำอย่างไรให้เลือดเอสเอ็มอีและประชาชนที่มีอาชีพอิสระ อยู่รอดได้ก่อนอย่างไร” นายแสงชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image