รายงานหน้า 2 : มอง 7 วันล็อกดาวน์ ดีขึ้นหรือแย่ลง ‘วัคซีน’ ตัวชี้วัด

รายงานหน้า 2 : มอง 7 วันล็อกดาวน์ ดีขึ้นหรือแย่ลง ‘วัคซีน’ ตัวชี้วัด

หมายเหตุ ภาคธุรกิจและนักวิชาการประเมินการใช้มาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผลบังคับใช้มาแล้ว 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ใน 10 จังหวัด และปัจจุบันเพิ่มเป็น 13 จังหวัด ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและวิธีนี้มาถูกทางแล้วหรือไม่

ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่สูงขึ้น ครบ 7 วัน หรือเริ่มไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นั้น ก่อนที่จะสรุปว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่าตอนนี้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เข้าสู่การระบาดในระลอกที่ 4 แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำไปแล้ว อย่างกรณีล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นต้องมาดูว่ามีสิ่งใดที่รัฐบาลปฏิบัติแล้ว มีเรื่องใดบรรลุถึงเป้าหมายบ้าง ทั้งในเรื่องของการจัดหา และกระจายวัคซีน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมาเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะในส่วนของภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยังมีการร้องเรียนว่าได้รับวัคซีนไม่ครบตามที่ขอไป เช่นเดียวกับประชาชน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับวัคซีนตามที่รัฐเคยกำหนดไว้เช่นกัน

อีกเรื่องที่ทางภาคเอกชนได้มีการติดตามในช่วงที่มีการล็อกดาวน์คือ เรื่องการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก แต่ไม่ได้มีหน่วยงานใดลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นพิเศษ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อใน 7 วันที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีแนวโน้มว่ามีจำนวนน้อยลง เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องใดต่อ ขอให้หลังจากนี้คำนึงถึงแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และมีผลเป็นรูปธรรม เพราะถ้าโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรตัวสุดท้ายได้รับผลกระทบ จะทำให้เกิดความเสียหายได้ในระยะยาว เป็นช่วงสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมด้านการส่งออก

Advertisement

ไทยในฐานะผู้ส่งออก ต้องเร่งผลิตสินค้าเพื่อสู้กับประเทศต่างๆ แต่ถ้าสะดุดอาจส่งผลให้โอกาสดีๆ ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมหลุดลอยไป เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เอกชนเป็นห่วงและหนักใจที่สุดในช่วงนี้ อยากวิงวอนให้รัฐบาลตระหนักว่านอกจากความเสียหายด้านเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์แล้ว รัฐควรเร่งมือให้เกิดความสำเร็จด้านระบบสาธารณสุขโดยเร็วด้วย เพราะทั้งภาคเอกชน และประชาชนไม่อยากเห็นทั้งภาคเศรษฐกิจ และสาธารณสุขที่ล้มเหลว

ส่วนการที่ ศบค.ประกาศล็อกดาวน์เพิ่มอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา โดยเริ่มในวันที่ 20 กรกฎาคม จากการประเมินในเบื้องต้น ภาคการผลิตหลักจะอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี แต่เชื่อว่าจากประกาศดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากนัก เพราะภาคอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อ

แต่ปัญหาตอนนี้คือการล็อกดาวน์ แต่หากในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมา จะส่งผลกระทบต่อการผลิต และการส่งมอบที่อาจล่าช้าลงทันที รวมทั้งจะส่งผลให้ภาคการส่งออกในปีนี้จากเดิมที่มีสิทธิเติบโตถึง 10% คาดว่าจะเติบโตอย่างต่ำที่สุดเพียว 7% เท่านั้น

Advertisement

ในส่วนของเรื่องการจัดสรรงบประมาณในช่วงนี้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนที่สุด คือการจัดหาวัคซีน เพราะว่าเร่งปัจจัยอื่นไม่ได้แล้ว หากมุ่งนำงบประมาณไปช่วยเรื่องการเยียวยาก็อาจจะยังไม่ตรงจุดเป้าหมายที่ต้องเร่งยับยั้งในตอนนี้ ต้องเอาสรรพกำลังทั้งหมดไปมุ่งที่วัคซีน เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศได้ในเร็ววัน ส่วนการเยียวยาต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมาเป็นเพียงการประคับประคองเท่านั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากเห็นประเทศเติบโตและดีขึ้น โดยใช้ระบบสาธารณสุขที่มีวัคซีนเป็นตัวนำ และย้ำว่าล็อกดาวน์ไม่ใช่คำตอบ วัคซีนเท่านั้นคือคำตอบที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ศูนย์วิจัยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) เหลือ 1% แล้ว โดยได้รวมมาตรการล็อกดาวน์เข้า ไปด้วยแล้ว การยกระดับล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น คงจะมีผลไม่ให้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด แต่ต้องมีการประเมินผลในทุกๆ สัปดาห์ อย่างมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เข้าสู่สัปดาห์ที่สอง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งขึ้นมาแตะระดับหลักหมื่นคน จะมีการยกระดับล็อกดาวน์แบบอู่ฮั่นโมเดล ต้องมีการประเมินผลอีกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่ ทางภาครัฐได้เห็นตัวเลข มีข้อมูลต่างๆ เยอะกว่า ได้มีการประเมินผลกระทบเป็นจุดๆ ไป ทั้งเรื่องการแพร่ระบาด การคาดการณ์ผู้ติดเชื้อในอนาคต และในเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจะให้ประเมินว่าล็อกดาวน์แบบเข้มงวดช้าหรือเร็ว ภาครัฐคงเลือกการยกระดับเป็นขั้นไป
ต้องมีการเร่งกระจาย เร่งฉีดวัคซีนให้มากยิ่งขึ้น ภาครัฐน่าจะทราบถึงประเด็นปัญหาทั้งหมด ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม กำลังมีวัคซีนทางเลือกทยอยเข้ามา ต้องติดตามดูอย่าง วัคซีนของซิโนฟาร์มจะเข้ามาเพิ่มในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ รวมถึงวัคซีนของไฟเซอร์ แต่การกระจายวัคซีนคงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้าและคนที่มีความเสี่ยงสูงก่อน

เมื่อไปดูการเยียวยาจากรัฐบาล ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแค่เดือนเดียว ผ่านระบบประกันสังคม พร้อมทั้งช่วยลดค่าน้ำค่าไฟ จากสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อแตะระดับหมื่นคน มองว่าจะมีการลากยาวออกไปอีก ผลกระทบจะใช้ระยะเวลามากกว่าที่เคยประเมินไว้ การเยียวยา 1 เดือน อาจจะไม่เพียงพอคงจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม

การเยียวยาในระยะสั้นที่สามารถทำได้เลย คือการช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจ ในรูปแบบลักษณะคล้ายๆ เดิม ที่ภาครัฐให้เงินเยียวยา เมื่อเทียบกับการเยียวยาครั้งแรกสุด “เราไม่ทิ้งกัน” ที่จ่ายเงินให้ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ได้เงินสดออกมา แต่มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก

ทั้งนี้ ภาครัฐน่าจะมีข้อมูล เพราะมีระบบฐานข้อมูล จะรู้ว่าผู้ได้รับผลกระทบเป็นใคร ส่วนจะจ่ายเงินเยียวยาให้เท่าไหร่ ก็ต้องไปดูว่างบประมาณมีเพียงพอหรือไม่ การระบาดรอบนี้อาจจะไม่จบเร็ว ต้องเผื่อใจไว้ว่าอาจจะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อได้อีก ต้องมีการวางนโยบายไว้ล่วงหน้า เตรียมงบประมาณไว้ให้มากพอ แต่ว่าตอนนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยังมีใช้อยู่ ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำ มีความจำเป็นต้องใช้เงิน การกู้เงินเพิ่มก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต

มาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัดที่ประกาศใช้มา 1 สัปดาห์ล้มเหลวอย่างชัดเจน คือ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายวัน ครอบครัวรายได้น้อย และกิจการขนาดย่อมขนาดเล็ก และการล็อกดาวน์ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตลดลงแต่อย่างใด สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงเห็นมีมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมและขยายมาตรการล็อกดาวน์ จะได้ผลน้อยถึงน้อยมาก ไม่มีประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ในการควบคุมโรคขณะนี้เป็นผลจากการติดเชื้อได้ลุกลามสู่ครัวเรือนและชุมชนอย่างเต็มที่แล้ว การล็อกดาวน์จะมีผลกระทบเศรษฐกิจรุนแรงและยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มในบ้านหรือชุมชนรายได้น้อย เนื่องจากอยู่อาศัยกันอย่างแออัด
มาตรการขยายล็อกดาวน์จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการคู่ขนานกับมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกในครัวเรือน ชุมชนและโรงงานและเร่งฉีดวัคซีน mRNA ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายและชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยง คู่ขนานไปด้วยอย่างเต็มที่

ตลอดจนชดเชยรายได้และผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ส่วนการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ไปยัง 3 จังหวัดอุตสาหกรรมคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นฐานอุตสาหกรรมส่งออกจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมภาวะการมีงานทำรุนแรง ตอนนี้สิ่งที่ประคับประคองเศรษฐกิจไทย คือ ภาคส่งออก หากต้องการควบคุมการติดเชื้อควรดำเนินให้การทำงานสามารถเป็นไปตามปกติมากที่สุด

ถามว่ากรณีของวัคซีนที่ยังฝุ่นตลบนั้น ต้องเร่งนำเอาวัคซีน mRNA มาใช้โดยด่วน การเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ของโรคและคุณภาพของวัคซีนอย่างโปร่งใส และการจัดหา การบริหารและกระจายวัคซีนตามหลักสาธารณสุขและการป้องกันไม่ให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจและสังคม มีความสำคัญอย่างยิ่ง การจัดหา การบริหารและการกระจายวัคซีนต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน หากไม่ยึดผลประโยชน์ของสาธารณสุขและสาธารณชนแล้ว การจัดหา การบริหารและการกระจายวัคซีนก็จะบิดเบี้ยว บิดเบือนไปจากหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม วิกฤตในหลายๆ ด้านจะติดตามมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

รัฐบาล ภาคธุรกิจและครัวเรือนควรเตรียมเม็ดเงินสำหรับสถานการณ์ที่ประเทศต้องล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดควรเลื่อนออกไปก่อน รัฐบาลอาจต้องพิจารณาผ่อนคลายทางการเงินและการคลังเพิ่มเติมอีก มาตรการชดเชยรายได้และช่วยเหลือเยียวยาจึงต้องเน้นความเสมอภาค มากกว่าความเท่าเทียม มาตรการทางเศรษฐกิจต้องมุ่งเป้าไปยังพื้นที่เสี่ยงที่ประชาชนมีปัญหาความแร้นแค้นในการดำรงชีวิตเป็นสำคัญ

และต้องพุ่งตรงไปที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และประคับประคองไม่ให้เกิดการปิดกิจการเพิ่มเติมจำนวนมาก ไม่จำเป็นที่ประชาชนหรือธุรกิจทุกกลุ่มจะต้องได้รับความช่วยเหลือเท่ากันหมด ต้องเน้นช่วยคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อนเพราะทรัพยากรและงบประมาณมีจำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image