เจาะเยียวยาค่าไฟ ล็อกเป้า ตรงจุด?

เจาะเยียวยาค่าไฟ ล็อกเป้า ตรงจุด?

ผลจากการที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว 10 จังหวัดแดงเข้ม ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งทะยาน แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ จนล่าสุดรัฐบาลเพิ่มอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา เริ่มวันที่ 20 กรกฎาคม

ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเหนือหมื่นราย ผู้เสียชีวิตอีกมาก ด้วยผลกระทบที่รุนแรงและวงกว้าง มาตรการจากภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ต้องทำอย่างเร่งด่วน และต้องครอบคลุมให้มากที่สุด หนึ่งในมาตรการที่ออกมาชัดเจน สามารถช่วยบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนทั้งประเทศ นั่นคือ การลดค่าไฟฟ้าช่วง 2 เดือน คือ กรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ที่ดำเนินการโดย กระทรวงพลังงาน

แม้จะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ แต่ทุกคนก็ต้องการในยามที่สาหัสในครั้งนี้!!

Advertisement

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม มีมติลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ เป็นเวลา 2 เดือน คือ กรกฎาคม-สิงหาคม 2564 มาตรการลดค่าไฟครั้งนี้ยึดฐานบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นตัวตั้ง เพราะเป็นช่วงที่คนไทยใช้ไฟฟ้าต่ำสุดของปีนี้ ใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณเดือนละ 6,000 ล้านบาท รวมวงเงินช่วยเหลือ 12,000 ล้านบาท

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลว่า มาตรการนี้กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าทำข้อมูลตั้งแต่ทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำข้อมูลช่วงวันหยุดเสาอาทิตย์ และเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาก่อนเสนอ ครม. เพราะรู้ว่าเรื่องเร่งด่วน ประชาชนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อน สูตรลดค่าไฟฟ้าทั่วประเทศ ระยะเวลา 2 เดือนนี้ คล้ายช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่ที่เปลี่ยนไปคือการกำหนดเดือนฐาน การลดค่าไฟครั้งที่ผ่านมาใช้เดือนก่อนหน้าเป็นฐาน คือ เมษายน 2564 แต่ถูกวิจารณ์ว่าช่วงนั้นการใช้ไฟค่อนข้างสูงบวกกับอากาศร้อน มาตรการลดค่าไฟครั้งนี้จึงเลือกใช้เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากเห็นว่าเป็นเดือนที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำสุดในรอบปี ประชาชนจะได้ประโยชน์จากฐานค่าไฟฟ้าที่ลดลงเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันได้เพิ่มการเยียวยากิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก จากเดิม 50 หน่วยแรก กลุ่มนี้ อาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากยอดขายที่ลดลงอย่างหนักจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งหมดนี้จึงใช้งบประมาณอุดหนุนประมาณ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรอบการลดเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ที่ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 8,000 ล้านบาท ปลัดกระทรวงพลังงานระบุ

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบรายละเอียดมาตรการลดค่าไฟ พบว่ามีการแบ่งผู้ได้รับความช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่มสำคัญ 1.บ้านเล็กใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย มีจำนวน 10.56 ล้านครัวเรือน คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 2,063 ล้านบาท แบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณ 4 แสนครัวเรือน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประมาณ 10.15 ล้านครัวเรือน 2.กลุ่มบ้านทั่วไป การคิดค่าไฟใช้เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นเดือนฐาน มีจำนวน 9.55 ล้านราย วงเงินช่วยเหลือ 3,306 ล้านบาท แบ่งเป็น กฟน. 3.37 ล้านราย และ กฟภ. 6.18 ล้านบาท จำนวนนี้

หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย มีประมาณ 7.17 ล้านราย แบ่งเป็น กฟน. 2.69 ล้านราย และ กฟภ. 4.46 ล้านราย วงเงินช่วยเหลือ 2,274 ล้านบาท กลุ่มต่อมาคือใช้ไฟฟ้า 501-1,000 หน่วย มีประมาณ 1.85 ล้านราย แบ่งเป็น กฟน. 0.51 ล้านราย และ กฟภ. 1.34 ล้านราย และกลุ่มใช้ไฟตั้งแต่ 1,001 หน่วยขึ้นไป มีประมาณ 0.53 ล้านราย แบ่งเป็น กฟน. 0.16 ล้านราย และ กฟภ. 0.37 ล้านราย และ 3.กิจการขนาดเล็กใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วย (จากเดิมได้ 50 หน่วย) มีจำนวน 1.73 ล้านราย วงเงินช่วยเหลือ 533 ล้านบาท

ส่วนกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะ องค์กรไม่แสวงหากำไรและการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ได้ช่วยเหลือด้วยการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยให้จ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จ่ายจริง

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือครั้งนี้อยู่ภายใต้ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจริง ที่เน้นการช่วยให้ครอบคลุมที่สุดในช่วงเวลานี้ ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงพลังงานยังยกตัวอย่างว่า บางบ้านใช้ไฟเฉลี่ย 2,000 บาท แต่เดือนกุมภาพันธ์ใช้น้อยประมาณ 800-1,000 บาท ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงจ่ายในอัตราเดียวกับเดือนกุมภาพันธ์ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายลง การช่วยเหลือจะมีอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องอยู่ภายใต้งบประมาณจากรัฐบาลที่เข้ามาสนับสนุนด้วย

นอกจากมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังมีมติตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 โดยให้เรียกเก็บที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตลอดทั้งปี 2564 จุดประสงค์ของการออกมาตรการนี้มาก็เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดค่าครองชีพในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนาน ล่าสุด กกพ.ส่งสัญญาณว่าปี 2565 หรือปีหน้า ต้นทุนเชื้อเพลิงจะกลับมาเพิ่มสูงแน่นอน จากแนวโน้มที่เริ่มขยับในปีนี้

จึงต้องมาลุ้นค่าเอฟทีกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประชาชนจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะค่าไฟคือต้นทุนค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การดูแลจากภาครัฐควรตรงจุด อย่าให้ประชาชนต้องทุกข์ร้อนไปมากกว่านี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image