‘ททท.’ เล็งชง ‘ศบศ.’ เปิด ‘กระบี่-พังงา’ รับต่างชาติ 22 ก.ค.นี้ ไม่ฟันได้ครบ 10 จังหวัดตามปักธง

‘ททท.’ เล็งชง ‘ศบศ.’ เปิด ‘กระบี่-พังงา’ รับต่างชาติ 22 ก.ค.นี้ ไม่ฟันได้ครบ 10 จังหวัดตามปักธง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากทดลองนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม และสมุย พลัส โมเดล เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แผนต่อไปคือ การขยายเปิดเกาะพีพี เกาะไหง เกาะไร่เล จังหวัดกระบี่ และเขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ซึ่งกำหนดเปิดในเดือนสิงหาคมนี้ โดยททท.จะนำแผนงานเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดและอนุมัติต่อไป โดยนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งจะพิจารณาจากสถานการณ์การระบาดโควิดของจังหวัดนั้นๆ อยู่ในระดับต่ำ และคนในพื้นที่ได้รับวัคซีนจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้ว โดยตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้กำหนด 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พัทยา บุรีรัมย์ กรุงเทพฯ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ กำหนดเปิดเดือนตุลาคมนี้ ต่อจากจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ซึ่งทั้ง 6 จังหวัดที่เหลืออยู่ในระหว่างการทำแผนที่ต้องมีทั้งการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% แผนพัฒนาเมือง แผนการตลาด แผนเผชิญเหตุ และแผนประชาสัมพันธ์ ซึ่งการฉีดวัคซีนถือเป็นด่านแรกที่ต้องผ่านให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจะสะท้อนออกมา ว่าพื้นที่เหล่านั้นมีความพร้อมหรือไม่ ขณะนี้จึงยังยึดแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโรดแมพที่วางไว้ก่อน ส่วนจะสามารถทำได้มากหรือน้อยอย่างไร ต้องประเมินจากสถานการณ์การระบาดโควิด และความพร้อมในระดับพื้นที่เป็นหลักต่อไป

“การเดินหน้าเปิดจังหวัดอื่นๆ ต่อไป จะขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่เป็นหลัก ว่าจะยินยอมให้เปิดหรือไม่ เพราะจากการลงพื้นที่หารือกับเอกชนในจังหวัดนำร่องต่อจากนี้นั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางบก จึงต้องมีการกำหนดพื้นที่ในการรับนักท่องเที่ยว เพื่อทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเฉพาะ (ซีล แอเรีย) รวมถึงต้องการจัดทำแผนกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมคนในพื้นที่ซีล แอเรีย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ก่อนวันเปิดรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากหากไม่สามารถฉีดวัคซีนให้พื้นที่ที่กำหนดไว้ได้ โอกาสในการเปิดก็เป็นไปได้ยากมาก ซึ่งขณะนี้แต่ละพื้นที่เป็นเหมือนกันทั่วประเทศ คือ แผนการกระจายวัคซีนอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยหากประเมินจากภูเก็ตและสมุย ที่สามารถเปิดได้ เนื่องจากทั้งสองพื้นที่เริ่มต้นได้ดี ทั้งการยินยอมจากคนในพื้นที่ และสามารถกระจายวัคซีนจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ ทำให้เมื่อผ่าน 2 เงื่อนไขนี้ได้ โอกาสในการเปิดรับต่างชาติตามที่กำหนดไว้ ก็มีความเป็นไปได้มาก ซึ่งจะทันหรือไม่ ยังต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากหารือร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังคงเป้าหมายรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวตามเดิม แบ่งเป็นในตลาดไทยเที่ยวไทย คาดการณ์ว่าจะมีการเดินทางในประเทศ จำนวน 100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.5 แสนล้านบาท หรือพยายามให้ไม่น้อยกว่าปี 2563 ที่ได้ 90.52 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งขณะนี้มีการเดินทางในประเทศสะสมอยู่ที่ 60 ล้านคน-ครั้ง โดยหวังว่าในไตรมาส 4/2564 จะมีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดต่างชาติ มีจำนวน 3 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นในจังหวัดสีแดงเพิ่มเป็น 13 จังหวัดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะกระเทือนต่อความต้องการในการมาเที่ยวไทยในโครงการต่างๆ หรือไม่ รวมถึงการประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ห้ามไม่ให้บินรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่สีแดงเข้ม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้มีผลกระทบกับการเดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ และสมุย พลัส โมเดลของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะในเงื่อนไขได้ยกเว้นให้สามารถบินเข้าพื้นที่นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวไว้ แต่ในกรณีที่ต่างชาติเหล่านี้ อยู่ภูเก็ตและสมุยครบ 14 วันแล้ว ต้องการเดินทางไปเที่ยวในพื้นที่อื่น สามารถทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งส่วนนี้จะหารือร่วมกับสายการบินต่อว่า สามารถบินจากภูเก็ตหรือสมุย ไปยังจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจังหวัดเสี่ยงสูงสุดหรือไม่ อาทิ เชียงใหม่ เพราะจะสามารถกระจายการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งกรณีเป็นกรณีที่ทำให้ความสำคัญมากสุด

Advertisement

“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์และสมุย พลัส โมเดล มีทั้งต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว และคนไทยที่ต้องการกลับประเทศ ซึ่งหากภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม ก็ไม่สามารถเดินทางกลับผ่านเครื่องบินได้ รวมถึงต่างชาติกลุ่มที่เข้ามาเพื่อทำธุระในพื้นที่สีแดงเข้ม อาทิ นักธุรกิจ ที่อาจเข้าทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะไม่มีเที่ยวบินลงได้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image