สมาพันธ์เอสเอ็มอี ร่วม 24 องค์กร เตรียมยื่น 6 มาตรการเสนอ ‘บิ๊กตู่’ ย้ำโควิดยืดเยื้อผู้ประกอบการหายกว่า 90% แน่

สมาพันธ์เอสเอ็มอี ร่วม 24 องค์กร เตรียมยื่น 6 มาตรการเสนอ ‘บิ๊กตู่’ ย้ำโควิดยืดเยื้อผู้ประกอบการหายกว่า 90% แน่

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1 หมื่นคน/วัน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้มีการหยุดการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจและขอให้ภาคเอกชนเวิร์คฟอร์มโฮมอีกครั้ง ซึ่งการระบาดของโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (ไมโครเอสเอ็มอี) จำนวนมากมีรายได้ไม่แน่นอน และขาดรายได้อย่างยาวนาน

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า จากความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทุกแขนงทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่าย ทั้ง 24 องค์กร อาทิ สมาคมตลาดท่องเที่ยวไทย สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน และสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย เป็นต้น จึงได้หารือร่วมกัน และมีมติให้เสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาล 6 มาตรการ เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 กรกฎาคม ดังต่อไปนี้ 1.มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้ไมโครเอสเอ็มอีเดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้เสีย 2. มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับไมโครเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดี ไม่เป็นหนี้เสีย มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่า 5% ให้ลดลงมาที่ 4% เป็นเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุน 1% ส่วนไมโครเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดี ไม่เป็นหนี้เสีย มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลดลงมา 50% จนครบอายุสัญญา

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า 3.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท พิจารณากำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี 4.มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร เป็นระยะเวลา 2 ปี 5.มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ การที่มีกองทุนนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ไมโครเอสเอ็มอีให้สามารถสร้างแต้มต่อและแข่งขันได้มากขึ้น และ 6.จัดทำกองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย เพื่อการพัฒนาไมโครเอสเอ็มอีไทย

Advertisement

“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการที่เสนอไปดังกล่าว จะได้รับการตอบสนองและพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม เพราะในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา หลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจกลางคืน เป็นต้น ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ครอบคลุม หลายธุรกิจช้ำมาก จึงอยากให้รัฐเร่งดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นายแสงชัย กล่าว

นายแสงชัย กล่าวว่า หากภายในเดือนสิงหาคมนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงยังไม่จบ และถ้ารัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 99.5% ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมดในประเทศ จะเหลือเพียง 0.5% ที่จะยังประคองธุรกิจอยู่ได้ เพราะในปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้เปราะบางมาก ซึ่งกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด คือกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่ตอนนี้มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3 ล้านราย จึงอยากให้รัฐบาลรับข้อเสนอทั้ง 6 มาตรการดังกล่าวไปดำเนินการ เพราะสามารถช่วยผู้ประกอบการและแรงงานที่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีได้กว่า 12 ล้านคน อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image