เอกชนเห็นพ้องแบงก์ชาติ มองจีดีพีปี’64 เสี่ยงติดลบหากล็อกดาวน์ยืดเยื้อ

เอกชนเห็นพ้องแบงก์ชาติ มองจีดีพีปี’64 เสี่ยงติดลบหากล็อกดาวน์ยืดเยื้อ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ประเมินหากล็อกดาวน์ยืดเยื้อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2564 มีโอกาสติดลบ 0.8-2% ว่า ภาคเอกชนมองไปในทิศทางเดียวกับ ธปท. เนื่องจากสถานการร์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 4 รุนแรง ผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ประกอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์คุมเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด และอีกหนึ่งปัญหาที่ตาม คือเรื่องซัพพลายดิสรัปชั่น หรือจากเดิมที่คาดว่าภาคการส่งออกในปี 2564 จากเติบโต 8-10% อาจไม่เป็นไปตามนั้นแล้วเพราะตอนนี้ไทยโดนโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก

ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้มีผู้ติดเชื้อน้อยลงได้ จนมีผลทำให้ ศบค.ยกระดับและขยายการล็อกดาวน์ยาวนานกว่าที่รัฐบาลตั้งใจไว้ หรือลากยาวไปประมาณ 1-2 เดือน และกระจายไปในหลายพื้นที่มากกว่า 13 จังหวัด ก็จะยิ่งส่งผลหนักต่อระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะดีขึ้น ทั้งเรื่องการเปิดประเทศภายใน 120 วัน และโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา พอเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นก็เป็นผลทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวลดลง อีกทั้งจากการที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศถอดประเทศไทยออกจากการเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 แล้ว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นผลทำให้นักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรปทั้งหมดอาจจะชะลอการเดินทางเข้าไทย ส่งผลให้ทุกอย่างที่คาดไว้ไม่เป็นไปตามเป้า จึงคาดปัจจัยลบเหล่านี้เป็นผลให้ ธปท. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบ 0.8-2%

Advertisement

“ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประเมินว่าจีดีพีในปี 2564 จะเติบโตประมาณ 0.5-1.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวเลขลดลงเรื่อยๆ เชื่อว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้ กกร. อาจมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงอีก แต่จะมีการติดตามสถานการณ์การฉีดและกระจายวัคซีนอย่างใกล้ชิดควบคู่กับการประเมินอีกครั้ง และถึงแม้ว่าตอนนี้ทาง ธปท.จะออกมาตรการพักหนี้ และพักดอกเบี้ย ออกมาเพื่อลดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ให้กับผู้ประกอบการ ประมาณ 1-2 เดือน มองว่าอาจไม่เพียงพอ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้บางรายที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวอาจไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ จึงอยากเสนอให้มีการพักหนี้ และพักดอกเบี้ย ช่วยผู้ประกอบการ ประมาณ 1 ปี เป็นอย่างน้อย” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลัก ดังนี้ 1.รัฐบาลสามารถบริหารจัดการวัคซีนได้รวดเร็ว และเพียงพอต่อความต้องการมากแค่ไหน และ 2.มาตรการเชิงรุกในการคัดแยก หรือตรวจเชิงรุก เพื่อคัดแยกผู้ที่ติดเชื้อออกมาได้อย่างชัดเจน และลดการระบาดให้น้อยลด โดยใช้วิธีสวอบ หรือตรวจโควิดด้วยตนเอง (Antigen Test Kit ) เพื่อแบ่งเบาภารระบบสาธารณสุข โดยอยากเสนอให้ภาครัฐแก้กฎหมายให้สามารถทุกโรงงานสามารถใช้ได้เอง โดยไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่สถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความสะดวกมาขึ้น หากรัฐสามารถดำเนินการเหล่านี้ควบคู่กันไปได้เชื่อว่าเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา และอาจทำให้จีดีพีในปีนี้ไม่รุนแรงขึ้นขั้นติดลบได้ แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้จน ศบค.ต้องประกาศใช้โมเดลอู่ฮั่น ก็มีโอกาสสูงมากที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image