‘ททท.’ จ่อรื้อแผนเปิด 10 จังหวัดนำร่อง ชี้ ‘กทม.-พัทยา-ชลบุรี’ เป็นไปได้ยาก

‘ททท.’ จ่อรื้อแผนเปิด 10 จังหวัดนำร่อง ชี้ ‘กทม.-พัทยา-ชลบุรี’ เป็นไปได้ยาก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตามแผนการเปิด 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เชียงใหม่ ประจวบคิรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และบุรีรัมย์ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งตั้งเป้าเปิดทั้ง 10 จังหวัดให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยหากประเมินจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศ ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงในหลักหมื่นคนอย่างต่อเนื่องนั้น คงต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแผนเดินหน้าจังหวัดนำร่องต่อไป โดยเฉพาะการเปิดกรุงเทฯ ประจวบคิรีขันธ์ เพชรบุรี และชลบุรี ที่ประเมินแล้วเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการระบาดโควิดในขณะนี้ยังไม่สามารถคลายตัวได้ และผู้ติดเชื้อในจังหวัดเหล่านี้อยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้ได้รับวัคซีนในพื้นที่ยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากตอนนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดและผู้ป่วยหนักอยู่ แต่การฉีดวัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเข้าไปดูแลเพื่อลดปัญหาการติดเชื้อ ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนในพื้นที่อาจเพิ่มมากขึ้นอีก จึงขอประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไปก่อน ส่วนบุรีรัมย์ เดิมที่เลือกเป็นจังหวัดนำร่อง เพราะมีเงื่อนไขผูกกับการจัดงานโมโต จีพี เมื่อเลื่อนการจัดงานไปแล้ว คงต้องรอนโยบายว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งเมื่อทบทวนและปรับแผนแล้วเสร็จ จะต้องนำรายละเอียดแผนใหม่ทั้งหมดนำเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

“ในศบศ. ได้เสนอให้ประเมินพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ภาคตะวันออก ในพื้นที่เกาะหมาก เกาะกูด ซึ่งจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ และนำมาปรับกับแผนเดิมที่วางไว้ โดยเฉพาะการผ่านเงื่อนไขของแผนกระจายวัคซีนที่ต้องทำให้ได้ตามแผนเท่านั้น จึงจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ทำให้ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะสามารถเปิดจังหวัดนำร่องได้ครบ 10 จังหวัดตามกำหนดหรือไม่นั้น ยังต้องทบทวนแผน รอความชัดเจน และประเมินสถานการณ์ก่อน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การเปิดพื้นที่รับต่างชาติ จะต้องประเมินจากความพร้อมในเชิงพื้นที่เป็นหลัก รวมถึงแผนเปิดเมือง 5 ด้าน ได้แก่ 1.แผนกระจายวัคซีน ที่ต้องฉีดให้กับคนในชุมชนอย่างน้อย 70% ทั้งผู้มีรายชื่อในทะเบียนบ้าน และไม่มีรายชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น รวมถึงการกำหนดพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่บก เพื่อควบคุมการเข้าออกของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เพราะต้องรักษาสัดส่วนของภูมิคุ้มกันหมู่ไว้ให้ได้ 2.แผนการพัฒนาเมือง ที่ต้องแก้ปัญหาหรือจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นเหตุผลทำไมจึงเลือกจังหวัดดังกล่าว และทำไมต้องจัดสรรวัคซีนให้จังหวัดเหล่านี้ก่อน 3.แผนการตลาด ซึ่งททท.จะศึกษาและวางแผนในการดำเนินการ อาทิ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การทำตลาดในประเทศต้นทางที่มีความน่าสนใจ 4.แผนการสื่อสาร ซึ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่และใกล้เคียง ว่าทำไมต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้อยู่ในระดับใด และหากเกิดเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะมีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรบ้าง โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากคนในพื้นที่ก่อน และ 5.แผนเผชิญเหตุ เพื่อกำหนดระดับของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะต้องอยู่ที่เท่าใดจึงจะต้องทบทวนแผนใหม่ หรือถึงขั้นชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการปรับรูปแบบเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (7+7) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ โครงการสมุย พลัส โมเดล ในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์แล้ว และพื้นที่เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ โดยปรับจากเดิมที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวอยู่ภูเก็ตให้ครบ 14 วัน เหลือ 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง จากนั้นสามารถเดินทางท่องเที่ยวและพำนักในเกาะอื่นๆ ที่กำหนดไว้ได้ เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน จึงจะสามารถเดินทางเที่ยวได้ทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ แต่กว่าจะเริ่มจริงๆ ต้องเป็นวันที่ 8 เป็นต้นไป เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องอยู่ภูเก็ตให้ครบ 7 วันก่อน โดยขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะตั้งต้นอยู่ที่ภูเก็ตใน 7 วันแรกเท่านั้น เพราะจังหวัดอื่นๆ ยังไม่มีเที่ยวบินตรงเข้า ส่วนจังหวัดพังงา ที่จะเปิดพื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ขณะนี้ติดที่แผนกระจายฉีดวัคซีน เพราะยังต้องการวัคซีนประมาณ 63,000 โดส ฉีดให้กับคนในพื้นทีาโดยเฉพาะในเขาหลัก จึงยังต้องประเมินว่า จะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เพราะหากไม่สามารถทำตามแผนกระจายวัคซีนได้ ก็ไม่สามารถเปิดพังงาน รับต่างชาติในรูปแบบการเที่ยวระหว่างเกาะในเดือนสิงหาคมนี้ได้ เนื่องจากจะทำให้คนในพื้นที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image