โฆษกดีอีเอสเผยข่าวปลอมอย่าแชร์! วอนประชาชนตรวจสอบข้อมูลถูกต้อง

โฆษกดีอีเอสเผยข่าวปลอมอย่าแชร์ ภาพประชาชนเสียชีวิตถูกห่อไว้เป็นจำนวนมาก วอนตรวจสอบข้อมูลถูกต้อง

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ มีการแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ บิดเบือนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความสับสนและตื่นตระหนกให้กับประชาชนและสังคมในช่วงวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้

สำหรับข่าวปลอมที่ได้มีการเผยแพร่ในวันนี้ (24 ก.ค.) ตามที่มีการเผยแพร่ภาพผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประเด็นเรื่องภาพประชาชนชาวไทยเสียชีวิตถูกห่อไว้เป็นจำนวนมาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ กรณีการแชร์ภาพผู้เสียชีวิตถูกห่อไว้จำนวนมาก และกล่าวว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ทางกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่าภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นภาพเหตุการณ์ในประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ตรวจสอบพบว่า ภาพในข่าวที่ถูกแชร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองเมียวดี รัฐคะหยิ่ง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีประชาชน จำนวน 22 ราย เสียชีวิตจากโควิด-19

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.mfa.go.th หรือโทร 0-2203-5000

นางสาวนพวรรณกล่าวว่า ฝากเตือนไปยังผู้ที่สร้างข่าวปลอมต่างๆ ให้หยุดการกระทำนั้นเสีย ทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ และฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนจะแชร์ หรือส่งต่อข้อความใดๆ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจตกเป็นเหยื่อ หรือถูกหลอกลวง หรืออาจไปสร้างความสับสน เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้อื่น ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2), (5) ตามแต่พฤติการณ์การกระทำผิด มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิดสามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image