บรรยากาศทำบุญ ‘อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา’ ช่วงโควิดเงียบ ใช้จ่ายกร่อยสุดรอบ 23 ปี 

บรรยากาศทำบุญ ‘อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา’ ช่วงโควิดเงียบ ใช้จ่ายกร่อยสุดรอบ 23 ปี 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ปีนี้ตรงกับวันที่ 24-25 กรกฎาคม พบว่าทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน แสดงความกังวลต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านและระงับการเดินทางเข้าวัดและเดินทางไปสถานที่ต่างๆ เนื่องจากวิตกต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และห่วงรายได้ในอนาคตที่ลดลงทั้งจากลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน หรือ ถูกออกจากงาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายและหนี้ในครัวเรือนยังสูงต่อเนื่อง อีกทั้งส่วนใหญ่งดกิจกรรมการเข้าวัด เวียนเทียน และถวายสังฆทาน รวมถึงงดการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงจากที่ครั้งนี้มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน หรือระหว่างวันที่ 24- 28 กรกฎาคม ทำให้ประเมินได้ว่าบรรยากาศการทำบุญและเดินทางไหว้พระขอพรในช่วงเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาปีนี้จะซบเซาและคาดเงินใช้จ่ายทั่วประเทศจะเหลือประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท จากปีก่อนจะมีเงินใช้จ่ายสะพัดเกือบ 15,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า การใช้จ่ายอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาปีนี้ น่าจะซบเซาและใช้จ่ายต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือแย่สุดในรอบ 22 ปี 9 เดือน หรือนับตั้งแต่ศูนย์พยากรณ์ทำการสำรวจเดือนตุลาคม 2541 ก่อนหน้านี้คาดว่าการใช้จ่ายลดลง 20-30% จากปีก่อน เหมือนกันการสำรวจใช้จ่ายในเทศกาลต่างๆที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี หรือมีเงินใช้จ่ายน่าจะสะพัดประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยการระบาดโควิดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงทำนิวไฮ และประชาชนรู้สึกถึงความไม่มั่นคงต่อรายได้และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ชะลอการใช้จ่ายและการเดินทาง กระทบต่อใช้จ่ายทั้งประเทศหายไป 50-60% โดยเฉพาะการคุมเข้ม 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงแต่เป็นกลุ่มจังหวัดที่สร้างเงินสะพัดใช้จ่ายเกือบ 50% ของแต่ละเทศกาล บรรยากาศน่าจะกร่อยสุดเป็นประวัติการณ์ คาดว่าสถานการณ์ระบาดยังสูงและความไม่มั่นต่อการฉีดวัคซีนจะกดดันต่อการใช้จ่ายรายวันแย่ลงด้วย เป็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจติดลบ 7.5% แต่กลุ่มกระทบคือตลาดไฟแนนซ์และบริษัทใหญ่ แต่ครั้งนี้ทุกกลุ่มได้รับความเดือดร้อน ผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงของประเทศเจอวิกฤตรายได้และขาดความมั่นใจต่อการใช้จ่ายหนัก จะกดดันเศรษฐกิจจากนี้แย่ลงเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image