‘เฉลิมชัย’ สั่งลุยเพาะปลา 60 ล้านตัว จากโขงสู่หนองหาร-กว๊านพะเยา หวังช่วยชาวบ้าน

‘เฉลิมชัย’ สั่งลุยเพาะปลา 60 ล้านตัว จากโขงสู่หนองหาร-กว๊านพะเยา หวังช่วยชาวบ้าน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ได้มอบนโยบายให้กรมประมงเร่งดำเนินการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกและสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน ทั้งนี้ กรมประมงได้มีการขับเคลื่อนนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ภายใต้โครงการต่างๆ ที่สำคัญ และประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะโครงการ “กรมประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” จากโขง…สู่หนองหาร และกว๊านพะเยา ซึ่งกรมประมงได้ร่วมกับภาคประชาชน ตั้งแคมป์เพาะพันธุ์ปลา โดยใช้ชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile Hatchery) ซึ่งมีเป้าหมายเพาะพันธุ์ปลารวมกว่า 60 ล้านตัว โดยการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูปลามีไข่ขึ้นมาผสมเทียม รีดไข่และเพาะฟักโดยใช้ Mobile Hatchery ได้ลูกปลาวัยอ่อน แล้วลำเลียงขนย้ายพากลับบ้านไปปล่อยคืนสู่หนองหาร จังหวัดสกลนคร ระยะทาง 123 กม. และกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ระยะทาง 170 กม. เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มผลผลิตปลาพื้นถิ่นในแหล่งน้ำทั้ง 2 แห่ง

ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานในภาพรวมจนถึงขณะนี้ สามารถเพาะพันธุ์ปลาและนำกลับปล่อยคืนแหล่งน้ำแล้ว รวมทั้งสิ้น 23.34 ล้านตัว โดยในส่วนที่ หนึ่ง จากโขง…สู่หนองหาร ได้ตั้งแคมป์เพาะพันธุ์ปลาที่บริเวณบ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม มีเป้าหมายเพาะพันธุ์ลูกปลา 30 ล้านตัว ผลขณะนี้ได้ลูกปลาและนำไปปล่อยในหนองหารแล้วจำนวน 12.84 ล้านตัว ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว 6.5 ล้านตัว สวาย 1 ล้านตัว และกระแห 5.34 ล้านตัว

“สำหรับส่วนที่ 2 จากโขง…สู่กว๊านพะเยา ได้ตั้งแคมป์เพาะพันธุ์ปลาที่บริเวณปากน้ำอิง บ้านปากอิงใต้ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีเป้าหมายเพาะพันธุ์ลูกพันธุ์ 30 ล้านตัว สามารถเพาะพันธุ์ปลาและนำไปปล่อยในกว้านพะเยาแล้วจำนวน 10.5 ล้านตัว ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว 9.3 ล้านตัว และปลาตะเพียนทอง 1.2 ล้านตัว” นายมีศักดิ์กล่าว

นายมีศักดิ์กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการดังกล่าวมีชุมชนประมงที่ตั้งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้นำชุมชนเข้าร่วมทั้งจุดเพาะพันธุ์และจุดปล่อยจำนวนมาก ทั้งนี้ ช่วงอาทิตย์หน้านี้มีฝนตกชุกคณะทำงานได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์เพื่อเร่งเพาะพันธุ์ให้บรรลุเป้าหมายและกำลังดำเนินการเพาะปลากาดำซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่งเพิ่มเติมจากปลาเดิมที่เพาะอยู่ในปัจจุบันอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image