‘อนุสรณ์’ แนะธุรกิจ-ครัวเรือน ‘ตุนเงิน’ รับล็อกดาวน์รอบใหม่ ชี้ไทยกลับลำร่วม ‘โคแวกซ์’ ช้าไป

แฟ้มภาพ

‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ อ่านเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังแนะ ‘ธุรกิจ-ครัวเรือน’ ตุนเงินรับล็อกดาวน์โควิดรอบใหม่

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงเป็นที่จับตาว่าหลังจากที่รัฐบาลประกาศยกระดับการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดสีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อแม้จะล็อกดาวน์ไปแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งทะลุหลักหมื่นติดกันหลายวัน

หากสถานการณ์ยังส่อเค้าลากยาวแบบนี้ ในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเดินไปทางไหน หาการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต ประเมินว่า มาตรการขยายล็อกดาวน์ 13 จังหวัดไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก และทำให้ 3 จังหวัดซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชนเพิ่มขึ้น

Advertisement

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายวัน ครอบครัวรายได้น้อย และกิจการขนาดย่อมขนาดเล็ก และการล็อกดาวน์ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตลดลงแต่อย่างใด สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร

“ควรปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการการแพร่ระบาดใหม่ ด้วยการตรวจเชิงรุก สร้างโรงพยาบาลสนามให้เพียงพอและแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ครอบครัว สถานประกอบการและโรงงาน โดยทำการชดเชยรายได้อย่างเต็มที่ ยกเลิกกฎระเบียบหรือขั้นตอนในการทำงานระบบราชการทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคในการรักษาชีวิตผู้คน ยกเลิกระบบเส้นสายในการฉีดวัคซีน และให้ผู้มีความเสี่ยงและผู้อยู่ด่านหน้าของการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพสูงก่อน”

รศ.ดร.อนุสรณ์ยังบอกอีกว่า การขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ไปยัง 3 จังหวัดอุตสาหกรรม คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นฐานอุตสาหกรรมส่งออกจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวม ภาวะการมีงานทำรุนแรง ตอนนี้สิ่งที่ประคับประคองเศรษฐกิจไทย คือ ภาคส่งออก หากต้องการควบคุมการติดเชื้อควรดำเนินให้การทำงานสามารถเป็นไปตามปกติมากที่สุด และลดการเดินทางและการเคลื่อนย้ายคน

Advertisement

“รัฐบาลตัดสินใจต้องปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายในงบประมาณใหม่ด้วยเลื่อนการจัดซื้ออาวุธทั้งหมด นำเงินมาใช้ในงบสาธารณสุข การตรวจโรคเชิงรุกและกักกันกลุ่มเสี่ยง การจัดซื้อวัคซีน การเตรียมรับมือกับการล่มสลายของระบบสาธารณสุข รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่เข้าโครงการ โคแวกซ์ (Covax) ขององค์การอนามัยโลกและพันธมิตรเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดเรื่องการจัดหาวัคซีน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กลับลำตัดสินใจใหม่ขอเข้าร่วมล่าสุด เป็นการตัดสินใจที่ดีแล้วแต่ช้าไปเพราะวัคซีนมาไม่ทันและการลุกลามของการติดเชื้อพัฒนาไปไกลแล้ว”

นอกจากนี้ การตัดสินใจเข้าร่วม Covax ต้องเร่งรัดกระบวนการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ใช่ให้เกิดผลปีหน้า ต้องเป็นปีนี้เท่านั้น จึงเกิดประโยชน์สูงสุด หากเข้าร่วมปีหน้ามันสายเกินไป ช้าเกินไป ความล่าช้าหรือดึงเรื่องการเข้า Covax ช้าลง อาจทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมอีกว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์ในทางที่มิชอบในการจัดหาวัคซีนหรือไม่

โดยทำให้กระบวนการที่ประเทศจะได้รับวัคซีนบริจาคมีความล่าช้ามากกว่าปกติ รัฐบาลต้องขจัดข้อสงสัยนี้มิเช่นนั้นแล้ว ความเชื่อมั่นของประชาชนจะไม่มี และจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาวิกฤตรุนแรงเช่นนี้ รัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

เมื่อถามว่า มองสถานการณ์จากนี้ถึงสิ้นปีจะเป็นอย่างไร อาจจะต้องมีการล็อกดาวน์อีกหรือไม่ รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ข้อแรก หากไม่สามารถเร่งฉีดวัคซีน mRNA ได้ ข้อสอง ไม่สามารถควบคุมการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายหรือกิจกรรมผิดกฎหมายที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ หรือข้อสาม ประชาชนไม่มีวินัย ไม่รักษาสุขอนามัยตัวเอง ประชาชนการ์ดตก ก็จะกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบหนึ่ง

“แต่ปัญหาจะอยู่ที่สองข้อแรกมากกว่าข้อสาม เพราะการระบาดระลอกสองและระลอกสาม ล้วนเกิดจากข้อสองเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ทั้งสิ้น ประชาชนโดยทั่วไปให้ความร่วมมือกับทางการดีมาก”

ส่วนการเปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นจะไม่เกิดปัญหาอะไรตราบเท่าที่ดำเนินตามมาตรการสาธารณสุขเคร่งครัด เพราะกลุ่มนี้มีการคัดกรองและฉีดวัคซีนมาแล้ว และควรจะรับเฉพาะที่ฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น

“หากจะมีการล็อกดาวน์กันอีกก็จะเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด 13 จังหวัดไม่ได้ผล ก็ต้องขยายล็อกดาวน์และล็อกดาวน์เพิ่ม จะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจรายเล็กรายน้อยทั้งหมด รวมทั้งประชาชนตั้งแต่ชนชั้นกลางลงไป”

หากล็อกดาวน์ได้ผลระดับหนึ่ง ตัวเลขคนติดเชื้อคนเสียชีวิตลดลง คลายล็อกดาวน์ได้ ก็ต้องดูว่าปัญหาข้อหนึ่งและข้อสองได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งคิดว่าไม่ง่าย โดยเฉพาะข้อสองที่โครงสร้างการเมืองและการบังคับใช้กฎหมาย และระบบราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาวิกฤตได้ เฉพาะโอกาสล็อกดาวน์ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

อีกทั้งเป็นเรื่องที่ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด รัฐบาล ภาคธุรกิจและครัวเรือนควรเตรียมเม็ดเงินสำหรับสถานการณ์ที่ประเทศต้องล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image