จอดป้ายประชาชื่น : อนาคตเงินดิจิทัล

จอดป้ายประชาชื่น : อนาคตเงินดิจิทัล หลายท่านคงได้ยินผ่านหูเรื่อง “บิทคอยน์”

หลายท่านคงได้ยินผ่านหูเรื่อง “บิทคอยน์” กันมาบ้าง ซึ่งบิทคอยน์เป็นหนึ่งในสกุลเงิน “คริปโทเคอร์เรนซี่” ซึ่งคริปโทฯคือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัสผ่านระบบบล็อกเชน มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าผ่านอินเตอร์เน็ตได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ปรารถนาของแบงก์ชาติในหลายประเทศ ที่จะนำคริปโทฯมาใช้จ่ายแทนใช้สกุลเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งแบงก์ชาติของไทย ที่ได้ระบุไว้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย” โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า การนำมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ใช้หรือผู้รับเงินดิจิทัล อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่า มีความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

ถึงกระนั้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์แนวหน้าของไทย ประกอบด้วย แสนสิริ อนันดา ออริจิ้น และแอสเซทไวส์ สวนกระแสคำเตือนของแบงก์ชาติ ประกาศรองรับเงินดิจิทัลสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการได้

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีประเทศให้การรับรองบิทคอยน์สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายได้ คือประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่อยู่โซนอเมริกากลาง แต่ก็ไม่พ้นข้อทวงติงจากทางไอเอ็มเอฟ ที่บอกไว้ว่า อาจจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและการเงินในระดับมหภาค และปัญหาในแง่ของกฎหมาย

Advertisement

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตเงินดิจิทัลจะต้องถูกใช้อย่างแน่นอน ทางแบงก์ชาติหลายประเทศกำลังศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล หรือที่เรียกติดปากว่า CBDC (Central Bank Digital Currency) แบงก์ชาติไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงได้มี “โครงการอินทนนท์” ที่ใช้ระหว่างภาคเอกชนกันเอง อีกทั้งหลายๆ คนคงเคยได้ยิน “หยวนดิจิทัล” ที่ธนาคารแห่งประชาชนจีนเป็นคนออกมา และแจกเงินเข้า e-wallet ให้ประชาชนได้ใช้งานจริงแล้ว

ในอีกทางหนึ่งหลายๆ ประเทศก็รอผลการใช้งานจริงของประเทศจีน ว่าจะมีปัญหาติดขัดอะไรบ้าง ก่อนจะประกาศใช้งานจริงตามบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image