คลังเผยหนี้สาธารณะแตะเพดาน 58.88% ครม.เคาะเพิ่มเพดานเงินกู้อีก 1.5 แสนล้าน

คลังเผยหนี้สาธารณะแตะเพดาน 58.88% ครม.เคาะเพิ่มเพดานเงินกู้อีก 1.5 แสนล้าน ไฟเขียว 3.3 หมื่นล้าน ลดค่าเทอมนักเรียน-นักศึกษา

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบล่าสุดที่ยอดติดเชื้อยังพุ่งสูงวันละกว่า 1 หมื่นราย ในขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ ควบคุมการระบาด จนส่งผลกระทบต่อประชาชน ภาคธุรกิจ ทำให้ต้องออกมาตรการเยียวยา โดยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจำนวน 15,027.686 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,522.99 ล้านบาท จากเดิม 13,504.696 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งประมาณการจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะขี้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย

นายอนุชากล่าวต่อว่า กรอบวงเงิน 15,027.686 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างในระบบประกันสังคมใน 9 ประเภทกิจการ ใน 13 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย 7,238.631 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 สัญชาติไทยที่เป็นลูกจ้างในกิจการของนายจ้างตามคุณสมบัติ จำนวน 7,789.055 ล้านบาท ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้

  • เคาะ 2.3 หมื่นล้าน-น.ร.หัวละ 2 พัน

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้ 1.มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษาปี 2564 คือสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษาปี 2563

Advertisement
  • ป.ตรีลดค่าเทอมสูงสุด 50%

นายอนุชากล่าวต่อว่า 2.มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 แนวทางการดำเนินการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 / 50,001 – 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50 สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน นอกจากนี้ กระทรวง อว.ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย

นายอนุชากล่าวต่ออีกว่า ศธ.และ อว.ได้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงินตามขั้นตอนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ.2564 รวมทั้งจะมีการกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป

  • ออมสินคาดขอพักหนี้ 6 เดือน 5 หมื่นราย

นายวิทัย รัตนกร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงมาตรการพักหนี้ช่วยเหลือลูกค้าธนาคารว่า ภาพรวมได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นโดยจ่ายเพียงดอกเบี้ย มาตั้งแต่มกราคม 2564 และได้ขยายเวลามาตรการถึง 31 ธันวาคม 2564 ช่วยเหลือลูกค้ารวม 8 แสนราย วงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนปัจจุบัน มาตรการที่ยังดำเนินการอยู่ ได้แก่ มหกรรมแก้หนี้ครู มีผู้เข้าร่วม 2.3 หมื่นราย วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ผู้ที่สนใจยังสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 กรกฎาคมนี้ สำหรับมาตรการล่าสุดคือพักชำระหนี้ 6 เดือน มีลูกค้าเข้าเกณฑ์ 7.5 แสนราย เปิดให้แจ้งความประสงค์ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 3.5 แสนราย ล่าสุดหลังเปิดให้แจ้งความประสงค์ตั้งแต่ 25-27 กรกฎาคม คาดว่าจะมีเข้ามา 50,000 ราย และจะเปิดในเดือนสิงหาคมอีก 4 แสนราย

Advertisement

นายวิทัยกล่าวว่า มาตรการอื่น อาทิ มาตรการพักชำระผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาทิ ร้านนวดแผนโบราณ ร้านสปา ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ารวมประมาณ 1 หมื่นราย

น.ส.ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทช่วยเหลือลูกค้าโดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ สำหรับสินเชื่อทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบ้านและที่ดิน สินเชื่อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถบรรทุก รถเพื่อการเกษตร รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์

  • หนี้สาธารณะแตะเพดาน 58.88%

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 3 เพื่อปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 150,000.00 ล้านบาท จากเดิม 1,647,131.74 ล้านบาท เป็น 1,797,131.74 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับความต้องการในการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเพื่อดำเนินแผนงาน หรือโครงการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19

“กระทรวงการคลังยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงินแต่อย่างใด และจะกู้เงิน เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณาและเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติแล้วเท่านั้น โดยกระทรวงการคลังไม่ได้กู้ทั้งจำนวนแต่ทยอยกู้เงินตามความจำเป็นของแผนการใช้จ่ายเงิน เมื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 3 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 58.88% ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง” นางแพตริเซียกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image