26องค์กรเอสเอ็มอี ร่อนหนังสือถึง3หน่วยคุมเศรษฐกิจช่วยด่วน วอนรัฐจัดมหกรรมช่วยเหลือ

26องค์กรเอสเอ็มอี ร่อนหนังสือถึง3หน่วยคุมศก.ช่วยด่วน วอนรัฐจัดมหกรรมลดภาระ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 กรกฎาคม สมาพันธ์และพันธมิตรองค์กรทุกอาชีพรวม 26 องค์กร  จะส่งหนังสือร้องขอและเร่งรัดให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) หลังจากได้ทำหนังสือเสนอ 6 มาตรการเร่งด่วนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในหนังสือได้ชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยได้เสนอ 6 มาตรการเร่งด่วนที่จะชะลอความเดือดร้อนของเอสเอ็มอีในช่วงเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแนวทางฟื้นฟูเมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย ประกอบด้วย 1.มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้ไมโครเอสเอ็มอีเดิมเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย 2. มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับไมโครเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน ในอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการ 50% จนครบอายุสัญญา 3.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท พิจารณากำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี 4.มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร เวลา 2 ปี 5. เร่งใช้มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ การที่มีกองทุนนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ไมโครเอสเอ็มอีให้สามารถสร้างแต้มต่อและแข่งขันได้มากขึ้น และ 6.จัดทำกองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย เพื่อการพัฒนาไมโครเอสเอ็มอีไทย

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สภาพัฒน์หาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก็น่าจะยังเป็นการเจาะจงในพื้นที่ 13 จังหวัดหรือจังหวัดเสี่ยงที่เจอมาตรการรัฐ แต่ในความเป็นจริง ตอนนี้เอสเอ็มอีเจอปัญหาทุกหมด ก็อยากให้รัฐบาลทำแพคเกจช่วยเหลือไปพร้อมกันทั้งประเทศ เป็นไปได้อยากให้นายกรัฐมนตรี สั่งจัดทำเป็นมหกรรมช่วยเหลือ เป็นแบบแพคเกจใช้ได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการพักหนี้เว้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยกึ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังพอค้าขายได้ หยุดการเป็นเอ็นพีแอลเพื่อลดการล้มตายของเอสเอ็มอีในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตอนนี้เอสเอ็มอีต้องให้รัฐช่วยการหยุดเลือดไหลและต่อท่อหายใจให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งจากการสำรวจจของหลายองค์กร พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 90% วงเงินกว่า 14 ล้านล้านบาท และคนมีรายได้น้อยมีเงินเหลือใช้จ่ายแค่ 1 เดือนสำหรับคนต่างจังหวัด และไม่เกิน 3 เดือนสำหรับคนเมือง ซึ่งหากการแพร่ระบาดโควิดยังไม่คลี่คลายได้ภายในสิงหาคมนี้ น่าจะถึงขั้นไม่มีอะไรกินแล้ว

” เอสเอ็มอีที่พออยู่ได้แต่ขาดเงินทุนหมุนเวียน เข้าถึงซอฟต์โลนก็ไม่ได้จริงอย่างที่รัฐระบุไว้ ขนาดว่าผ่านการรวบรวมของสมาคมส่งไปให้แบงก์พิจารณากว่า 10,000 ราย ถูกระบุว่าไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 77% ดังนั้นจึงเหลือวิธีลดภาระ อยากให้รัฐประสานนายแบงก์เรื่องการไม่คิดดอกเบี้ยสำหรับรายที่กำลังเป็นเอ็นพีแอล และลดดอกให้50% ทำให้รายที่พอเลี้ยงตัวได้ หากเทียบกับกำไรแบงก์ต่างๆต่อไตรมาสสูงมาก น่าจะนำบ้างส่วนมาช่วยลูกค้าในภาวะวิกฤตอย่างนี้ วิธีการเดียวกันนี้ รัฐสามารถใช้กับการลดภาระภาคประชาชนได้พร้อมกันด้วย การยื่นให้ 3 หน่วยงานรัฐครั้งนี้ มีการเพิ่มเติมอีก 2 หน่วยงานจากครั้งก่อนที่ยื่นถึงนายกฯ สะท้อนว่าความเดือดร้อนกำลังเข้าถึงทุกองค์กรมากขึ้นๆ ” นายแสงชัย กล่าว

Advertisement

นายแสงชัย กล่าวว่า จากการสำรวจเอสเอ็มอีล่าสุด เดือนพฤษภาคม 2564 ธุรกิจเอสเอ็มอีส่งออกมีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกรวม 12.5% มูลค่าส่งออก และ 5 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 411,493.6 ล้านบาท ดีขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของประเทศคู่ค้าลดลง จึงต้องการนำเข้ามากขึ้น ขณะที่การว่างงาน มีผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ณ เดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวน 303,984 คน ส่วนว่างงานจากสาเหตุการเลิกจ้าง 91,794 คน และการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของเอสเอ็มขึ้นทะเบียน 53,058 ราย 59% เป็นนิติบุคคลเอสเอ็มอี 40% เป็นบุคคลธรรมดาเอสเอ็มอี และ 2% เป็นวิสาหกิจชุมชน โดยข้อมูลล่าสุด จีดีพีเอสเอ็มอี ไตรมาสแรก 2564 ติดลบแล้ว 2.5% มีส่วนแบ่ง 34.7% ของจีดีพีประเทศ ส่วนใหญ่ลดลงจากภาคการบริการ ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องท่องเที่ยว ลดลง 35% และคาดว่าจีดีพีเอสเอ็มอีไตรมาส2และ 3 ปีนี้ คาดว่ามีแนวโน้มติดลบหนักขึ้นกว่าไตรมาสแรก เป็นปีแรกที่มีการติดลบต่อเนื่องหลายไตรมาสได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image