คิดเห็นแชร์ : แนวโน้มการส่งออกไทยครึ่งหลังปี2564

คิดเห็นแชร์ : แนวโน้มการส่งออกไทยครึ่งหลังปี2564

คิดเห็นแชร์ : แนวโน้มการส่งออกไทยครึ่งหลังปี2564

การส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อีกทั้งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวเป็นบวก ซึ่งอัตราการขยายตัวที่สูงของมูลค่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2564 มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งเสริมกัน

ปัจจัยภายใน คือ การทำงานหนักและทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบาย และแนวทาง รวมทั้งติดตาม กำกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อติดตามสถานการณ์และหารือในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา อาทิ แก้ปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อให้มีตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอ ผลักดันการเปิดด่านชายแดนเพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและจีนได้มากขึ้น รวมทั้งการมอบหมายทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนประเทศ และพาณิชย์จังหวัดเป็นเซลส์แมนจังหวัด ทำงานประสานร่วมกันเพื่อผลักดันการส่งออกของไทย

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี สะท้อนจากตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโลก จัดทำโดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2564 เติบโตร้อยละ 25.3 จากการขยายตัวของภาคการผลิตในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สอดคล้องกับมุมมองเชิงบวกของภาคธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจโลก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Purchasing Manufacturing Index: Global PMI) ที่กลับมาอยู่เหนือระดับ 50 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด เดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 55.5

Advertisement

ตัวเลขการส่งออกของไทยครึ่งปีแรก มีมูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าค่าเฉลี่ยของ 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา (2558-2562) โดยครึ่งปีแรกเติบโตร้อยละ 15.53 ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ยังมีกลุ่มสินค้าที่ยังสามารถเติบโตได้ดี ได้แก่

1.กลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งสินค้าที่ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดี อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้และผักสด (ทุเรียน มะม่วง พริก ข้าวโพดอ่อน) ยางพารา ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

2.สินค้าที่อำนวยความสะดวกต่อการทำงานที่บ้าน ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า (เตาอบ ไมโครเวฟ พัดลม ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง) คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้น่าจะยังคงได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องอีกสักระยะ จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น

Advertisement

3.สินค้าที่ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการรักษาโรค ได้แก่ ถุงมือยาง เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหลักที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยยังกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี ประกอบด้วย

4.สินค้าทุน สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

5.สินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ กลับมาทำยอดส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่มิติรายตลาด ในครึ่งปีแรกไทยส่งออกได้ดีเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดหลัก ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ในช่วง 6 เดือนแรก มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังแต่ละตลาดหลักมีการขยายตัว ดังนี้ สหรัฐ ร้อยละ 21.0 จีน ร้อยละ 24.9 สหภาพยุโรป ร้อยละ 26.6 ญี่ปุ่น ร้อยละ 12.6 และอาเซียน ร้อยละ 6 ขณะเดียวกันการส่งออกไปตลาดรองก็มีการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ร้อยละ 36.5 ไต้หวัน ร้อยละ 22.3 อินเดีย ร้อยละ 54.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 16.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 40.1แอฟริกา ร้อยละ 23.5 รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 15.7

แนวโน้มการส่งออกช่วงครึ่งหลังของปี 2564 กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกจะยังคงมีทิศทางที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมีปัจจัยสนับสนุนจาก

1.เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

2.การระดมฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มกระตุ้น รวมทั้งการเร่งคิดค้นวัคซีนและยาต้านไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งจะช่วยทำให้กิจการต่างๆ และแรงงานสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติโดยเร็ว

3.ราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตามความต้องการใช้ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในภาพรวมที่มีแนวโน้มดีขึ้น และเอื้ออำนวยต่อการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนเพื่อเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี มีจำนวนมากกว่า 130 กิจกรรม ทั้งรูปแบบออฟไลน์ ออนไลน์ และไฮบริด ประกอบด้วยการจัดงานและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การร่วมมือกับศูนย์การค้าและแพลตฟอร์มออนไลน์ทั่วโลกโปรโมทสินค้าไทย และการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สอดรับกับยุคนิวนอร์มอล

สินค้าที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวเป็นบวก โดยในส่วนของสินค้าเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบด้วยสินค้าต่างๆ อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงรส อาหารโปรตีนจากพืช เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

ทิศทางการส่งออกในอนาคตของไทย นอกจากการส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพในปัจจุบันแล้ว กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาตลาดและสินค้าส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม โดยสำนักงานงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้ทำการศึกษาในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า เพื่อหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูง รวมทั้งทำการศึกษาเกี่ยวกับสินค้าอาหาร ดูแนวโน้มทิศทางในอนาคตว่าสินค้าตัวไหนสามารถเติบโตดีและสินค้าตัวไหนเริ่มอิ่มตัว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเห็นร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางการส่งเสริมการส่งออกในอนาคต ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศ และเป็นสินค้าที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตรายกลางและรายย่อยมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมสินค้าที่สอดรับกับเมกะเทรนด์ และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพของไทยที่มีอยู่ และลดความเสี่ยงจากการถูกใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศคู่ค้า ซึ่งสอดคล้องกับรองนโยบายสนับสนุนสินค้า BCG ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

สินค้าที่ควรส่งเสริมประกอบด้วย 1.กลุ่มสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ ครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร (รวมถึง Plant-based meat และแหล่งโปรตีนทางเลือก) นอกจากนี้ ยังมีสินค้าไบโอพลาสติก ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.กลุ่มสารสกัดจากพืชสมุนไพรและพรรณไม้หอม เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบที่มีสรรพคุณที่ดี จึงควรพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสกัดสารให้ก้าวหน้า เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เครื่องสำอาง น้ำหอม ซึ่งฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร สนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่ใช้สกัดหัวน้ำหอมจากพืชพรรณในไทย สำหรับใช้ในเครื่องสำอางและน้ำหอม

3.กลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และ wellness ของภูมิภาค และ 4.กลุ่มสินค้าในอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ภาครัฐให้การส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image