ส.อ.ท. ชี้แรงงานเคว้ง “อนุทิน”รับปากหาวัคซีนให้ เล็งซื้อซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยฯเพิ่ม

ส.อ.ท. ชี้แรงงานเคว้ง “อนุทิน”รับปากหาวัคซีนให้ เล็งซื้อซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยฯเพิ่ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ผู้บริหาร ส.อ.ท.ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข โดย ส.อ.ท.ได้ขอให้พิจารณาจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดเกิดคลัสเตอร์โรงงานจำนวนมากแต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ โดยยอดการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในระบบประกันตน ม.33 ที่เดิมกำหนดเดือนมิถุนายนจะมีวัคซีนป้อนให้ 1 ล้านโดส และกรกฎาคมเป็นต้นไปเดือนละ 1.5 ล้านโดส แต่ล่าสุดวัคซีนที่เข้ามาเพียง 6-7 แสนโดส และได้รับแจ้งว่าเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจะได้รับการจัดสรร 8 แสนโดสซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณแรงงานทั้งระบบ

“ภาคอุตสาหกรรมได้รับวัคซีนไม่ถึง 10% ของแรงงานทั้งหมด เคว้งมากไม่รู้จะเอาที่ไหน วัคซีนทางเลือกก็ไม่มี จึงอยากให้รัฐเร่งแก้ไขตรงนี้ โดยนายอนุทิน รับปากว่าจะกลับไปพิจารณาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ประสานกับกระทรวงแรงงานให้ช่วยหาวัคซีนฉีดให้แก่แรงงานเร่งด่วนเช่นกัน นอกจากนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างหารือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อขอจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มเพิ่มเติมจากก่อนหน้าที่ได้รับจัดสรรแล้ว 3.79 แสนโดส 1.3 พันโรงงาน โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ระบุว่าอาจเป็นช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ขณะนี้ส.อ.ท.จึงอยู่ระหว่างการสอบถามสมาชิกถึงความต้องการอีกครั้ง” นายสุพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้จากการหารือกับ นายอนุทิน ได้เห็นชอบให้ดำเนินการ 3 มาตรการหลัก เพื่อป้องกันผลกระทบต่อโรงงาน ได้แก่ 1.การจัดอบรมวิธีการใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน หรือ แอนติเจน เทสต์ คิท อย่างถูกต้อง โดยให้ตรวจอย่างน้อย 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 2.การจัดอบรมการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยการทำ บับเบิล แอนด์ ซีล โดยไม่ต้องปิดโรงงานสำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ส่วนสถานประกอบการที่มีพนักงานน้อยกว่า 200 คน แนะนำให้ใช้มาตรฐาน ไทย สตอป โควิด ของกระทรวงอุตสาหกรรม และ 3.การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการรูปแบบ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น  รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะต้องมี เฮลท์ตี้ ลีดเดอร์ อย่างน้อย 2 คน

Advertisement

นอกจากนี้ จะมีการนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่พัฒนาขึ้นโดย กูเกิ้ล และ แอปเปิ้ล มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและการเสียชีวิต ซึ่ง ส.อ.ท.เสนอตัวเป็นผู้ดูแลระบบและประสานงาน โดยจะนำร่องเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมก่อน

“โรงงานขนาดใหญ่ต้องทำบับเบิ้ล แอนด์ ซีล เพื่อไม่ต้องถูกสั่งปิด ทำให้ภาครัฐ สังคม เชื่อมั่นว่าป้องกันการแพร่ระบาดได้ นอกจากนี้ในด้านค่าใช้จ่ายชุดตรวจโควิด หรือ การฉีดวัคซีนต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กมีกำลังไม่มาก ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรือภาษี” นายสุพันธุ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image