‘อพท.’ ผนึก 6 องค์กรท่องเที่ยวถอดรหัสความสำเร็จ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่อยอดสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล รับพฤติกรรมใหม่นักท่องเที่ยว

“อพท.” ผนึก 6 องค์กรท่องเที่ยวถอดรหัสความสำเร็จ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่อยอดสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล รับพฤติกรรมใหม่นักท่องเที่ยว

 

อพท. ผนึกภาคีเครือข่าย 6 องค์กร “ถอดบทเรียนการป้องกัน Covid-19 จาก Phuket Sandbox ดึงความสำเร็จสู่การต่อยอดในพื้นที่พิเศษและเมืองรอง สร้างโมเดลต้นแบบการจัดการภายใต้สภาวะวิกฤต สร้างจุดขายตอบไลฟ์สไตล์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยน ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ด้วยแอพพลิเคชั่น Tourism Digital Sandbox เครื่องมือบริหารมาตรฐานความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวกลไกความเชื่อมั่นด้านบริการนักท่องเที่ยวและประชาชน

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน และผู้เชี่ยวชาญ 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เปิดเวทีสัมมนาขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทย ในหัวข้อเรื่อง “ถอดบทเรียนการป้องกัน Covid-19 จาก Phuket Sandbox สู่พื้นที่พิเศษและเมืองรอง” ครั้งที่ 1 ผ่านระบบ Facebook Live by DASTA Academy เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็น และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่จะไปสู่แผนการบริหารจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการให้บริการท่องเที่ยววิถีใหม่ ต้อนรับฤดูกาลการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2564 ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน โดยการถอดกรณีศึกษาของ Phuket Sandbox จะดำเนินการทั้งในมิติความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย และส่วนที่ต้องมีการพัฒนาต่อยอด เพื่อการบริการที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

“การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา (Case Study) ของพื้นที่ Phuket Sandbox โดยการนำองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว และประชาชนในระดับแหล่งท่องเที่ยว (Destinations) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จนเป็นผลสำเร็จ และเป็นโมเดลการบริหารจัดการแบบบูรณาการภายใต้กลไกของภาครัฐ ที่จะนำเทคโนโลยี ระบบดิจิทัล มาพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น Tourism Digital Sandbox ในพื้นที่ของตนเอง ที่สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็ง และสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้และฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย” ผู้อำนวยการ อพท.กล่าว

Advertisement

แนะใช้ดิจิทัลเจาะเทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังจบโควิด

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังจบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักวิชาการได้ วิเคราะห์ทางรอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้าสถานการณ์ โดยได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการประเมินพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ซึ่งพบว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวของไทยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาติดเมืองการท่องเที่ยว 1 ใน 5 ประเทศของโลกเหมือนเดิม

ผลจากงานวิจัย พบว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนรองรับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างราบรื่น ภายใต้การท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยฝั่งผู้ประกอบการ ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว หรือเรียกว่ากลุ่มซัพพลายไซต์ จะต้องมีการพัฒนายกระดับการให้บริการ โดยให้ความสำคัญองค์ประกอบการขับเคลื่อน ด้วยหลัก Tourism Economy มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Economy) เพื่อความสะดวก ปลอดภัยและสุขอนามัย การมีส่วนร่วมในการพัฒนา (Sharing Economy) การดูแลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Green Economy) การพัฒนาจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัล (Cashless Economy) การทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์ (Touchless Economy) และการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ (Trust Economy )

ในฝั่งนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง หรือกลุ่มดีมานด์ไซต์ พบว่า ตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองหลังจากนี้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความสุข และความยั่งยืนมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเกษียณ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหมา ดังนั้นจึงต้องมีระบบสาธารณูปโภค ระบบอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ถือเป็นการตอบโจทย์ ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวนับจากนี้ไป

Phuket Sandbox ดึงเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 1,000 ล้านบาท

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ข้อดีของการขับเคลื่อนนโยบาย Phuket Sandbox คือได้เห็นการบูรณาการความร่วมมือกันหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จนเกิดเป็นผลสำเร็จและประสานการทำงานกันได้อย่างลงตัว รวดเร็วทันเวลา ข้อดีตรงนี้จึงสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ของรัฐบาลให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

“การเปิด Phuket Sandbox ใน 1 เดือนที่ผ่านมาคือตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจของนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ โดยมียอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ถึง 12,368 คน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมากกว่า 1,000 ล้านบาท”

ประธาน สอท.กล่าวต่อด้วยว่า ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันต้องแข่งขันกับนานาชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ประเทศ มัลดีฟส์ และบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ทำการตลาดในรูปแบบ เพื่อสร้างตลาดการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง ดั้งนั้นการเปิดเมืองภูเก็ตครั้งนี้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและนำมาสู่การพัฒนาสร้างจุดแข็งตั้งแต่แผนรองรับความเสี่ยง โดยการวางกฎระเบียบต่างๆ อย่างเข้มข้นและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้ การถอดโมเดล Phuket Sandbox ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่จะนำไปเป็นต้นแบบในการขยายไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีศักยภาพพร้อมเปิดดำเนินการ อาทิ เกาะสมุย และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะนำเอากรณีศึกษาของพื้นที่ Phuket Sandbox มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพ การจัดการภายใต้สภาวะวิกฤติ และ เหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะการบริหารจัดการรับมือกับการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งจากนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่ มีหน่วยงานกลางในการบูรณาให้เกิดระบบการบริการการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชะลอตัว ดังนั้นมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งในด้านการเว้นระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัยให้เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image