ห่วงกรณีคอนโด ‘แอชตัน อโศก’ กระบวนการอสังหาริมทรัพย์พัง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างรวม 4 ฉบับ ที่สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกให้แก่ โครงการ “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) คอนโดสุดหรู 50 ชั้น 783 ยูนิต โดยศาลเห็นว่าที่ดินที่ตั้งโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เนื่องจากไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวเกิน 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯกทม. อนุญาตให้บริษัททำการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโครงการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างทุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าวนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงการผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการนี้ว่า ศาลหยิบยกประเด็นเรื่อง “ทางเข้า-ออก” โครงการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยเฉพาะที่ดินอันเป็นที่ตั้งโครงการ ที่ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร และต้องยาวต่อเนื่องไปจนถึงทางสาธารณะที่มีขนาดความกว้างเกิน 18 เมตรขึ้นไป แต่ที่ดินอันเป็นที่ตั้งโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว เพราะมีความกว้างของถนนซอยเดิมเพียง 6.4 เมตรเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ทางโครงการจะนำเอาหนังสือรับรองการอนุญาตจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่อนุญาตให้โครงการใช้ทางผ่าน เข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท ของ รฟม.มาแสดง และเรื่องดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็พิจารณาให้ความเห็นชอบว่า สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย อีกทั้ง หากโครงการมีปัญหาในเรื่องของความกว้างเขตทางเข้า-ออกไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ก็คงเป็นเรื่องยากที่โครงการจะได้รับไฟเขียว EIA ออกมาได้ แต่ดูเหมือนศาลจะไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ รวมไปถึงประเด็นที่ว่า การที่ รฟม.นำเอาที่ดินเวนคืนก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ามาให้เอกชนใช้เป็นทางผ่านเข้า-ออก เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนหรือไม่ ด้วยเหตุที่ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีส่วนได้ ส่วนเสีย หรือมีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับ รฟม.หรือโครงการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายคงได้แต่รอดูบทสรุปของโครงการ “แอชตัน อโศก” แห่งนี้ จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งอื่นๆ ที่ล้วนได้อานิสงส์จากโครงข่ายรถไฟฟ้าและทางด่วนของรัฐจะถูกลูกหลงจนพังกันไปทั้งระบบหรือไม่ เพราะหากกรณีนี้ถูกตีความว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบกพร่อง จนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว ต่อไปในอนาคตโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกโครงการในประเทศ อาจจะมีปัญหาเพราะไม่อาจจะเชื่อถือหลักเกณฑ์ใดๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตในไทยได้อีกต่อไปแล้ว

Advertisement

ขณะที่ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดาฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการยืนยันว่า ได้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ทางผ่านเข้า-ออก ของ รฟม.จากโครงการอื่นๆ หากทุกฝ่ายย้อนกลับไปพิจารณาโครงการคอนโด หรือโครงการพัฒนาอสังหาฯ รายรอบสถานีรถไฟฟ้า หรือโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ของรัฐจะพบว่า ไม่ได้มีแต่โครงการแอชตัน อโศกแห่งนี้ที่มีการขอใช้ที่ดินเป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการ แต่ยังมีโครงการพัฒนาอสังหาฯอื่นๆ อีกนับสิบโครงการต่างก็ขอใช้ที่ดินของ รฟม.และหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงข่ายระบบขนส่งมวนอื่นๆ เป็นทางเข้า-ออก เช่นเดียวกันอยู่นับสิบโครงการ

ขณะที่ประเด็นพิพาทเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างโครงการนี้ นายชานนท์กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินงานพัฒนาโครงการอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของการซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ทางเข้า-ออก ของ รฟม. จากโครงการอื่นๆ โดยมีใบอนุญาต 9 ฉบับ จาก 8 หน่วยงาน และผ่านคณะกรรมการพิจารณาชุดต่างๆ ถึง 5 ชุดด้วยกัน จึงมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามครรลองที่กำหนดไว้ในกฎหมายในทุกขั้นตอนอยู่แล้ว

“โครงการนี้ ไม่ใช่รายแรกที่ใช้ทางผ่านเข้า-ออกของ รฟม. เพราะปัจจุบันมีโครงการในลักษณะคล้ายกันนี้กว่า 13 โครงการ เฉพาะของ รฟม.ก็มีประมาณ 6 โครงการ และในการขออนุมัติผ่านทางเข้า-ออกของ รฟม.นั้น ทาง บมจ.อนันดายังรับผิดชอบค่าทางผ่านให้ รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท ทำให้บริษัทมั่นใจว่าในการดำเนินโครงการแอชตัน อโศกที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน” นายชานนท์กล่าว

Advertisement

ด้านอดีตผู้บริหาร รฟม.กล่าวว่า หากกรณีที่ รฟม.อนุมัติให้ผู้อาศัยในโครงการนี้ผ่านทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้าถูกตีความว่าเป็นการทุจริตนำที่ดินเวนคืนเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือสถานีรถไฟฟ้าไปเอื้อให้เอกชนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว โครงการอื่นๆ ที่เคยทำมาในอดีตอาจมีสิทธิโดนลูกหลงตามมาอย่างแน่นอน อีกทั้งในอนาคต นโยบายการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าเพื่อนำรายได้มาชดเชยการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่จะสนับสนุนให้เอกชนพัฒนาโครงการโดยรอบสถานีมาเสริมรายได้ให้โครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อลดปัญหาการจราจร คงไม่มีทางเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image